เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้ง We Watch แถลงการณ์พบความบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งและ อบจ.จะสามารถจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงไปได้ แต่มีความบกพร่องหลายประการอันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง We Watch ขอนำเสนอให้เห็นข้อบกพร่องดังกล่าว พร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงการจัดการเลือกตั้ง 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดมาตรฐานสากลของการเลือกตั้งทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง ข้อบกพร่องที่พบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย
- ขาดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน
1.1 ประชาชนถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ) กำหนดให้ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านที่มีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
1.2 การประกาศวันเลือกตั้ง ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดภารกิจในพื้นที่ห่างไกลสามารถกลับมาใช้สิทธิได้อย่างสะดวก เช่น กำหนดวันเลือกตั้งไม่ตรงกับวันหยุดยาวและใกล้กับเทศกาลปีใหม่ รวมถึงไม่มีช่องทางอำนวยความสะดวกอื่นรองรับการใช้สิทธิ
1.3 การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสน ดังกรณี การไม่ระบุชื่อผู้สมัครและรูปภาพของผู้สมัคร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้บัตรเสีย - ความเป็นอิสระของผู้มาใช้สิทธิและการวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่
2.1 กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ส่งสัญญาณ ใช้อิทธิพลชักจูงผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งชาวบ้านทราบดีว่ามี กปน. บางคนเป็นหัวคะแนน
2.2 ประชาชนจำนวนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบจาก กกต. เนื่องจากเกรงว่าตนเองจะมีความเสี่ยงและที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ - ความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเด็นนี้ กปน. มีการดำเนินการบกพร่องหลายกรณี เช่น ไม่ปิดประกาศเอกสารสำคัญหน้าหน่วย หละหลวมในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้มาใช้สิทธิ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครผิดพลาด ไม่นับจำนวนบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ ไม่เจาะทำลายบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ นับคะแนนโดยละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ติดเอกสารประกาศสรุปผลการเลือกตั้งภายหลังการนับคะแนนแล้วเสร็จ รวมถึง กปน. ในหลายหน่วยไม่อนุญาตให้อาสาสมัครสังเกตการณ์ภายรอบหน่วยอย่างอิสระ
- การลงคะแนนที่เสี่ยงต่อการไม่เป็นความลับ โดยเฉพาะในกรณีที่ กปน.ไม่จัดวางคูหาให้มีฉากกั้นด้านหลัง หรือ กรณีมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ด้านหลังคูหา
- การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งยังมีน้อยโดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถดำเนินการสังเกตการณ์ได้มากขึ้นและมีมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยเลือกตั้ง
- ขาดมาตรการในการควบคุมมิให้เกิดการคุกคามผู้สมัครในการหาเสียงในหลายพื้นที่
ในการจัดการกับข้อบกพร่องข้างต้น We Watch มีข้อเสนอแนะต่อ กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
- ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน เช่น มาตรา 38 (3) พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้ที่มีการย้ายที่อยู่ในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี
- กกต. ควรแก้ไขระเบียบหรือจัดการให้มีช่องทางอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเดินทางกลับไปใช้สิทธิ
- การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่ง่ายต่อความเข้าใจ มีรายชื่อชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน
- ควรมีการทบทวนเรื่องที่มาและคุณสมบัติของผู้จัดการเลือกตั้งใหม่ เช่น การยกเลิกการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็น กปน. และสร้างกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของ กปน. ใหม่ เพื่อป้องกันหัวคะแนนสร้างอิทธิพลหรือชักจูงผู้ใช้สิทธิภายในหน่วยเลือกตั้ง
- กกต. ควรทบทวนกระบวนการอบรม กปน. เพื่อปรับปรุงแนวคิดและขั้นตอนการปฏิบัติในประเด็นเกี่ยวกับความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการทำความเข้าใจหลักการเรื่องการลงคะแนนที่เป็นความลับเสียใหม่
- กกต. ควรมีการวางมาตรการในการทำงานเชิงรุกในประเด็นการป้องกันและดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามและการโกงการเลือกตั้ง
สุดท้าย กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งควรมีเจตนาที่จะแสดงความรับผิดชอบในข้อบกพร่องดังกล่าว และทบทวนบทเรียนในการดำเนินบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพื่อพัฒนามาตรฐานขั้นสูงในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ประกอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมีการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ผู้คนในต่างจังหวัดมีโอกาสทัดเทียมกันคงจะเป็นความฝันที่ยากที่จะเป็นจริง
ทั้งนี้ เครือข่าย We Watch เป็นเครือข่ายประชาชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของเหล่าอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพเมื่อปี พ.ศ. 2556 มีบทบาทในการหนุนเสริมความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยที่วางอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ในครั้งนี้ ได้มีการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอาสาสมัครและการรายงานจากบุคคลทั่วไปจากทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันตก ผ่านทางเว็บไซต์ www.electionwatchth.org เฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch และทางโทรศัพท์ในช่วงการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา