ทม.ลำพูน เปิดตัว “โครงการลำพูนเมืองแห่งประวัติศาสตร์และการส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิม สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ (LAMPHUN LEARNING CITY) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง เทศบาลเมืองลำพูน (ทม.) จัดแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการลำพูนเมืองแห่งประวัติศาสตร์และส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิม สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น” แถลงความคืบหน้าโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อการขับเคลื่อนโครงการ อาทิ การสนับสนุนนทางวิชาการและองค์ความรู้ในการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนา รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม หน่วยบริหารจัดการบ้านเมือง สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงการร่วมขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้
นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวถึงความเป็นมาและจุดเริ่มต้นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทม.ลำพูน จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมองว่าเป็นความรับผิดชอบและเป็นข้อได้เปรียบของเมืองลำพูน เพราะเมืองมีความเข้าใจและทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงสามารถส่งเสริมการเรียนรู้และต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งผลดีต่อมิติการพัฒนาเมืองทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้าน นางสุภาภรณ์ มานะรักษ์ ในฐานะของตัวแทนกลุ่มอาชีพทำโคมของ ทม.ลำพูน ได้กล่าวถึงการร่วมมือดำเนินการส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนากลุ่มอาชีพทำโคมที่อาศัยความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในชุมชน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์กับประชาชนที่สนใจและอยากเรียนรู้การทำโคมล้านนา
ขณะที่ นายนเรนท์ ปัญญาภู ในฐานะเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ที่มีองค์ความรู้ด้านประวัติความเป็นมาของโคมล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า เมืองลำพูนเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องเล่าและหลักฐานมากมายที่กล่าวถึงวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวลำพูน ที่อาจไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง เช่น วิถีชีวิตของคนในสมัยก่อนที่ปรากฎในภาพเขียน รูปถ่าย หนังสือโบราณต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น โคมเมืองลำพูน มีภาพถ่ายที่ทำใหเห็นว่ามีการใช้โคมทั้งในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานพิธีการและงานมหรสพต่าง ๆ รวมถึงประวัติศาสตร์รถไฟก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายที่ควรจะทำเป็นฐานข้อมูลและเป็นแหล่งเรียนรู้ได้
ส่วน นายสรรเสริญ แสนสมบูรณ์ สารวัตรรถจักร กล่าวว่า ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความยินดี และพร้อมให้การสนับสนุนหัวรถจักรดาเวนปอร์ต (Davenport) รุ่น 500 HP. หมายเลข 516 รวมถึงไม้หมอนทางเก่า รางเหล็ก รวมถึงอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางที่ปลดระวางแล้ว จากกองเก็บที่ทำการสารวัตรแขวงบำรุงทางลำพูน กองบำรุงทางเขตลำปาง โดยหวังว่าการสนับสนุนอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์ให้กับประชาชน ได้สัมผัสภายในโบกี้โดยสารของจริง ความเก่า และร่องรอยการใช้งานจากอดีตจะมีมนต์เสน่ห์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของรถไฟได้ชัดเจน
ทั้งนี้ ทม.ลำพูน ได้คัดเลือกแหล่งเรียนรู้นำร่องต้นแบบ สร้างโอกาส และระบบนิเวศทางการศึกษาของเมืองให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้ จำนวน 2 แหล่งเรียนรู้ ดังนี้
1.แหล่งเรียนรู้โคม เป็นศูนย์การเรียนรู้ “เมืองแห่งโคม” จัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ ถ่ายทอดเรื่องราวของโคมล้านนาที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนพร้อมกิจกรรม Workshop ทำโคมด้วยตนเองกับกลุ่มอาชีพทำโคมของเทศบาลเมืองลำพูน
2.แหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เมืองลำพูน (ศูนย์การเรียนรู้รถไฟ) เป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์รถไฟของเมืองลำพูน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรถไฟที่ถูกเรียงร้อยเรื่องราววิถีชีวิตของคนรถไฟจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถ่ายทอดเรื่องราว ณ สวนม๋วนใจ๋ ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย
การแถลงข่าวในครั้งนี้ จัดขึ้นในบรรยากาศล้านนา ณ คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ หรือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ตกแต่งด้วยเก้าอี้ทรงไข่สำหรับนั่งรอรถไฟ ณ ชานชาลา ให้บรรยากาศสบาย ๆ พร้อมภาพเก่าประวัติศาสตร์ของรถไฟลำพูน รวมถึงมีการสาธิตการทำโคมล้านนาโดยกลุ่มอาชีพทำโคมของ ทม.ลำพูน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนร่วมงานอย่างคับคั่ง สำหรับการดำเนินการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนเมืองลำพูนไปพร้อมกัน ทม.ลำพูน จะไม่ยอมให้ใครตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง แล้วพบกับกับแหล่งเรียนรู้โคม “เมืองแห่งโคม” และศูนย์การเรียนรู้รถไฟได้เร็วนี้ ๆ