close

หน้าแรก

menu
search

Kick – Off 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ

schedule
share

แชร์

          เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งในวันดังกล่าว  อปท. ทั้ง 7,773 แห่ง (ไม่รวม อบจ./กทม.) ได้เริ่ม Kick – Off การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) พร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการส่งเสริมให้ อปท. ได้มีการจัดการขยะมูลฝอยโดยดำเนินการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ

          โดยที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลของ อปท. ที่เป็นเลิศ (Best Practice) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู (อบต.) จังหวัดลพบุรี อบต.ผาสามยอด จังหวัดเลย  อบต.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลหนองล่อง จังหวัดลำพูน ตั้งแต่วันที่ 5 – 17 ตุลาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียน จัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เกี่ยวกับการดำเนินการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนธนาคารขยะของ อปท. พร้อมทั้งมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามคู่มือโครงการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ

          นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะของ สถ. นี้ เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้ อปท. นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขาย เพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

          สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนในระดับจังหวัด โดยคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยระดับจังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. มีธนาคารขยะอย่างน้อย อปท. ละ 1 แห่ง ซึ่งจะต้องมีการประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะของ อปท. (ในระดับจังหวัด) ให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางที่ มท. กำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่งจัดตั้งธนาคารขยะ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันนี้ที่มีการ Kick – Off รวมทั้งมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบ (พี่เลี้ยง) ของธนาคารขยะ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด โดยสนับสนุนให้ อปท. จัดตั้งคณะกรรมการธนาคารขยะของ อปท. เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนผลักดันให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดทราบถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะรีไซเคิล สร้างองค์ความรู้ในการดำเนินโครงการธนาคารขยะ ให้ทราบถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายศึกษาวิเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะของ อปท. ตามคู่มือแนวทางที่ มท. กำหนด พร้อมทั้งติดตาม และรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการให้ มท. ทราบทุกเดือน

          2) การขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในระดับอำเภอ จัดประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับอำเภอ โดยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ให้คำแนะนำ สนับสนุน และร่วมดำเนินการให้ อปท. ทุกแห่ง มีธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน โดยใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับอำเภอ สนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานโดยใช้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ร่วมกันประสานงานและขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน ในการจัดทำข้อบังคับธนาคารขยะ ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะและการเปิดรับสมาชิก พร้อมทั้งการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย รวบรวมปัญหา อุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการขับเคลื่อนนโยบายฯ ให้จังหวัดทราบ

          และ 3) การขับเคลื่อนในระดับ อปท. ให้มีการเตรียมความพร้อมสำรวจข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน การจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ การคัดแยกขยะมูลฝอย การรีไซเคิลขยะในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งจัดทำธรรมนูญชุมชน/หมู่บ้าน/ตำบล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการคัดแยกขยะมูลฝอยครัวเรือน และจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน และคณะทำงานธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน

          นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนั้น จังหวัดจะเป็นหน่วยงานรวบรวมและบันทึกในแบบรายงานของจังหวัด เพื่อให้ สถ. ทราบ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานติดตามและรายงานผล คือ

          1) วันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นการเตรียมความพร้อมในการมีฐานข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน (การจัดการขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะมูลฝอย ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่) พร้อมทั้งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในพื้นที่ และมีการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ และประกาศจัดตั้งคณะทำงานธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน

          2) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน มีหน้าที่ในการประชุมและการสำรวจผู้ประกอบการรับซื้อในชุมชน ราคา ประเภทของขยะรีไซเคิลที่รับซื้อ ประสานงานผู้รับซื้อให้เข้าร่วมธนาคารขยะในราคา ระยะเวลา และสถานที่ที่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่เข้ารับซื้อตามความเหมาะสม มีการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และอำนาจในการบริหาร คณะทำงานฯ และฝ่ายต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงาน เช่น การรับสมัคร การรับซื้อขยะ การประชาสัมพันธ์ การทำบัญชี พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานธนาคารขยะกับชุมชน โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการร่วมกับอาสาสมัคร ท้องถิ่นรักษ์โลก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความน่าสนใจของการเป็นสมาชิกธนาคารขยะ

          และ 3) วันที่  29 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันแห่งการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งจะมีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน โดยกำหนดวันเวลา และสถานที่ในการรับสมัคร ที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์การรับสมัครให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบ พร้อมทั้งมีการประชุมทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะที่ขายได้ – ขายไม่ได้ และแจ้งกำหนดการในการรับซื้อขยะรีไซเคิลให้สมาชิกได้รับทราบ

          “ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ระดมสรรพกำลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม Change for Good ทำให้เกิดธนาคารขยะในทุกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยกันหนุนเสริมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ ตาม 4 กระบวนการของแนวทางการทำงานโครงการในพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกัน Action Now แล้วเราจะมีความสุขในการทำให้เกิดทำให้มีสิ่งที่ดีในแผ่นดินไทย ในพื้นที่ชุมชนของพวกเรา เพื่อโลกใบเดียวนี้ของเราทุกคน” สุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]