close

หน้าแรก

menu
search

3 สมาคมท้องถิ่นจี้รัฐคลายล็อก 4 ข้อ แก้โควิด

schedule
share

แชร์

          ตัวแทน 3 สมาคม อปท. ออกแถลงการณ์ร่วมจี้รัฐบาลปลดล็อกท้องถิ่น – เอกชน จัดซื้อชุดตรวจแบบเร่งด่วน – วัคซีนที่หลากหลายและมีคุณภาพฉีด ปชช. พร้อมแก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา

 

          วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตัวแทนจาก 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ร่วมออกแถลงการณ์ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ข้อเสนอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ใจความว่า

 

          ในนามของ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ได้เห็นสภาพของปัญหาตลอดจนได้มีโอกาสรับฟังปัญหา ความทุกข์ยากของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมานั้น รู้สึกมีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้ง 3 สมาคม ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้มาซึ่งข้อสรุปในการที่จะเรียกร้องต่อท่านนายกรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็น ดังนี้

 

          ประเด็นที่ 1 จัดหาชุดตรวจโควิด แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen test) เพื่อค้นหาเบื้องต้น ผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในชุมชน และเครื่องตรวจ RT – PCR test เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยัน ตลอดจนจัดหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มสมรรถนะการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งในระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อชุดตรวจโควิด แบบเร่งด่วน เพื่อตรวจให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้ด้วย เพื่อเป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ดังเช่นจะเห็นภาพของประชาชนไปเข้าคิวรอการตรวจเชื้อตั้งแต่ในช่วงกลางคืนเพื่อรอการตรวจเชื้อในวันรุ่งขึ้น

 

          ประเด็นที่ 2 ขอเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าวัคซีนป้องกัน COVID – 19 ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับต่อการแปรเปลี่ยนของสายพันธุ์ไวรัสที่มีการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันขั้นตอนการขออนุมัติในการนำเข้าวัคซีนป้องกัน COVID – 19 ทั้งในเชิงของการตรวจคุณภาพตลอดจนขั้นการรับรอง ขอให้ลดระยะเวลาในการอนุมัติให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถือว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจำเป็นจะต้องแข่งกับเวลาและทุกสิ่งที่สามารถกระทำได้

 

          ประเด็นที่ 3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลเอกชน สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันCOVID – 19 วัคซีนทางเลือกได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นจะต้องจัดซื้อจากหน่วยงานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (สบค.) กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้การนำเข้า วัคซีนทางเลือกสามารถที่จะนำเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันขอให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกประกาศการรับรองวัคซีนทางเลือกที่อนุญาตให้นำเข้าตลอดจนกำหนดราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดซื้อให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนโรงพยาบาลเอกชนให้สิทธิ์และความเป็นอิสระในการจัดซื้อเป็นของโรงพยาบาลเอกชน

 

          ประเด็นที่ 4 ขอให้ออกระเบียบรองรับในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID – 19 แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงในองค์กรปกครองท้องถิ่นหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะมาศึกษา ประกอบอาชีพ หรือมารับจ้างแรงงาน แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ มีโอกาสเป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นแนวนโยบายของ ศบค. ในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อ อีกนัยหนึ่งก็ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้นการเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่หนึ่งๆ ให้มากกว่า 70 % จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำ โดยเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อาศัยในท้องถิ่นไม่เฉพาะเจาะจงประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอาศัยในท้องถิ่น หรือจังหวัดนั้นๆ

 

          ท้ายนี้ ทั้ง 3 สมาคม ขอเรียนว่าตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำงานร่วมกับทางรัฐบาล และทางจังหวัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย แอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การดูแลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ พวกเราตระหนักถึงความจำเป็นและวิกฤตที่เกิดขึ้น และต้องการให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้คลี่คลายโดยเร็วที่สุดพวกเราจึงหวังว่าข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้คลี่คลายลง และหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมบนพื้นฐาน บนประโยชน์สูงสุดของประชาชน

 

          เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐเปิดกว้างให้สามารถจัดการตรวจแบบ Rapid Antigen Test อปท.จะมีการดำเนินการอย่างไร นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  กรณีเทศบาลมีสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเทศบาลเองก็จะมีโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่นั้นๆ เมื่อใดที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ Rapid Antigen Test จะอาศัยความร่วมมือของสาธารณสุขในสังกัด เพื่อให้มีการตรวจหาผู้ป่วยได้มากขึ้น สำหรับการตรวจแบบ  RT-PCR ในพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่น บางครั้งต้องใช้เวลา 3-4 วันกว่าจะรู้ผล มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่เชื้อมากขึ้น แต่หากใช้ Rapid Antigen Test จะทราบผลได้รวดเร็ว แม้จะให้ผลไม่แม่นยำ 100% แต่จะช่วยลดการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้ และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

 

3 สมาคมท้องถิ่นจี้รัฐคลายล็อก 4 ข้อ แก้โควิด

 

          ด้านนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะอุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อปท. อยู่ใกล้ประชาชน อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากรัฐอนุมัติให้ อปท.ซื้อได้อย่างถูกต้อง สามารถให้สาธารณสุขจังหวัดไปแจกจ่ายในหมู่บ้านได้เลย จะทราบผู้ติดเชื้อได้เร็ว เมื่อ 3 สมาคมอปท. สามัคคีร่วมมือกัน ทุกพื้นที่ตารางนิ้วจะอยู่ใต้การควบคุมดูแลของ 3 สมาคมอยู่แล้ว ไม่เกินความสามารถของพวกเรา เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าในปัจจุบัน หากเปิดโอกาสให้กับท้องถิ่น เชื่อว่าจากที่เคยรอผลตรวจถึง 3 วัน วันเดียวก็จะรู้ผลเลย การพูดว่าเปิดโอกาสนั้น ถ้าหากกฎระเบียบต่างๆ มีจำนวนมาก จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ขอให้มั่นใจว่า 3 อปท. พร้อมที่จะดูแล ป้องกัน และรักษาให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขแน่นอน

 

          ขณะที่ นายสุวรรณวิชช์ เปรมปรีดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโรง จ.กาญจนบุรี ในฐานะอุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ขอสนับสนุนแนวทางที่ร่วมกันแถลงการณ์ทุกประการ ขอให้รัฐบาลจัดหาและกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วที่สุด และครอบคลุมมากที่สุด ทั้ง 3 สมาคมเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะช่วยเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการสถานการณ์ให้จบลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยการแก้ระเบียบต่างๆ ให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวที่สุด

 

 

          เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้รับการอนุมัติ วัคซีนหรือชุดตรวจที่ อปท. จะนำมาให้บริการประชาชนฟรีหรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนซื้อมาจากภาษีของประชาชน จึงไม่มีเหตุผลที่ อปท.จะต้องเก็บค่าบริการหรือค่าฉีดจากประชาชน การที่ประชาชนปลอดภัยจากโควิด ช่วยแก้ความทุกข์ยากของประชาชน จึงคุ้มค่ามากกว่าการไปเรียกเก็บเงินตรงนี้ เพราะความทุกข์ยากของประชาชน ก็คือความทุกข์ยากของเรา

 

          ต่อคำถามที่ว่าหากรัฐบาลปลดล็อกให้โอกาสท้องถิ่นดำเนินการตามแถลงการณ์ ต้องการให้เร็วที่สุดเมื่อใด นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลก็เริ่มแล้ว โดยเริ่มปลดล็อกให้โรงพยาบาลใช้การตรวจแบบ Rapid Antigen Test ในส่วนของวัคซีนอยากให้ใช้ระยะเวลาการตรวจสอบคุณภาพเร็วขึ้น หรือการอนุมัติต่างๆ เร็วขึ้น เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกที่ใช้วัคซีน ต่างประเทศใช้มาก่อน และมีรายงานการใช้มาตลอด อยากให้หยิบตรงนี้มาร่วมพิจารณา และลดขั้นตอนอื่นๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้องค์กรหรือท้องถิ่น ได้มีช่องทางจัดหาวัคซีนเอง ทางท้องถิ่นเองอาจจะติดต่อกับท้องถิ่นในต่างประเทศ ร่วมมือกันในการจัดหามาแบ่งปันกันก็เป็นได้ ศักยภาพของ 3 สมาคม เพียงพออยู่แล้วที่จะทำ อะไรที่ทำให้เกิดความคล่องตัวในภาวะวิกฤต ก็อยากให้ทำ

 

          ด้านนายบุญชู ย้ำว่า หากรัฐเปิดกว้าง มั่นใจได้ว่าท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด มาฉีดให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงกันทุกคน ดังนั้นเรื่องของงบประมาณหรือความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่ประเด็นปัญหา “ณ วันนี้ระเบียบยังติดขัดเยอะแยะไปหมด มีเงินแต่ไม่รู้จะซื้อที่ไหน ช่องทางการซื้อแคบ ถ้าเปิดกว้างให้ท้องถิ่น คงไม่มีปัญหาจนถึงทุกวันนี้”

 

          ขณะที่นายวรรณวิชช์ กล่าวเสริมว่า อบต.เป็นองค์กรเล็ก แต่ทุกที่มีเงินสะสม มีเงินพร้อมซื้อวัคซีน สั่งจองไปแล้ว ประชาชนก็รีบมาสั่งจองจำนวนมาก แต่ไม่มีของให้ฉีด

 

          สำหรับการเยียวยาที่ต้องการเรียกร้องจากภาครัฐ นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า การเยียวยาก็เป็นปัญหา การเยียวยาได้เป็นเพียงถุงยังชีพหรือค่าอาหารรายวัน และมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก อยากให้กระทรวงมหาดไทยออกมาทบทวน กฎหมายที่ออกมาก่อนที่จะมีเหตุการณ์ลักษณะเป็นภัยพิบัติทางชีวภาพ กฎหมายที่ออกมาเป็นเชิงบรรเทาสาธารณภัยจากธรรมชาติเป็นหลัก ปกติเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมักจะกระทบคนจำนวนมาก กระทบทุกคนในหมู่บ้าน แต่หากเป็นภัยทางชีวภาพ จะได้รับผลกระทบบางครัวเรือน ผู้มีอำนาจก็จะไม่กล้าประกาศเป็นภัยพิบัติ เนื่องจากไม่ได้กระทบทุกครัวเรือน เมื่อไม่ได้ประกาศเป็นภัยพิบัติ ก็จะมีปัญหาด้านการเยียวยาของข้อกฎหมายที่จะตามมา 3 สมาคมจึงต้องมาหารือว่าทำอย่างไรจึงจะทำได้คล่องตัวที่สุด

          เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลไม่ตอบสนองเรื่องการนำวัคซีนทางเลือกที่หลากหลายเข้ามา เหมือนก่อนนี้ที่องค์กรอื่นๆ ได้พยายามเรียกร้องไปแล้ว ทั้ง 3 สมาคมจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

          นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า “หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องของท้องถิ่น พูดอย่างตรงไปตรงมา ว่าเราก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าในแง่ของกฎหมาย รัฐธรรมนูญต่างๆ เขียนไว้เรียบร้อยว่า อย่างไรก็ตามก็คงไม่พ้นจากนายกรัฐมนตรีท่านนี้ 250 เสียงก็เป็นตัวล็อกไว้โดยอัตโนมัติ เพียงแต่เราในฐานะตัวแทนจากประชาชน ก็ขอส่งเสียงออกไปว่า พวกเราพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐ เพียงแต่ขอให้ท่านเปิดโอกาสให้กับพวกเรา”

 

3 สมาคมท้องถิ่นจี้รัฐคลายล็อก 4 ข้อ แก้โควิด

3 สมาคมท้องถิ่นจี้รัฐคลายล็อก 4 ข้อ แก้โควิด

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชี้เป้า! มหาสงกรานต์ท้องถิ่น ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ชี้เป้า! มหาสงกรานต์ท้องถิ่น ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

  เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 เพิ่มความพิเศษด้วยการเฉลิ…

schedule
เปิดตัว! โครงการ “1 ตำบล 1 ทนายความ” นำร่องอบต. 14 แห่ง

เปิดตัว! โครงการ “1 ตำบล 1 ทนายความ” นำร่องอบต. 14 แห่ง

สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย จับมือ สภาทนายความฯ เปิดตัว “โ…

schedule
สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา

สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา

กทม. เปิดวิสัยทัศน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุง…

schedule
หนุนท้องถิ่นป้องกัน – คุมไฟป่า นำร่อง 19 อปท. จังหวัดเชียงใหม่

หนุนท้องถิ่นป้องกัน – คุมไฟป่า นำร่อง 19 อปท. จังหวัดเชียงใหม่

ราชกิจจาฯ ออกประกาศ ก.ก.ถ. ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]