วัน เสาร์ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
menu
หน้าแรก ประเด็นเด็ด keyboard_arrow_downข่าวดังท้องถิ่น keyboard_arrow_downข่าวประชาสัมพันธ์ keyboard_arrow_down
อ่านต่อ
ท้องถิ่นวาไรตี้ keyboard_arrow_down
อ่านต่อ
กิจกรรม รวมคลิป keyboard_arrow_down
หมวดหมู่ :

โควิดกระทบเก็บภาษี รัฐบาลหั่นงบฯปี 65 ลง 1.8 แสนล้าน

access_time
มกราคม 11, 2021
  วันที่ 11 มกราคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายเพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีแนวทางดังนี้
 
1.  แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 
  • การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564  โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง  เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ในปัจจุบัน  รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ 
  • คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564  เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  จำนวน  3,100,000  ล้านบาท  ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  (ซึ่งมีจำนวน  3,285,962.5  ล้านบาท)  เป็นจำนวน  185,962.5  ล้านบาท  เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ที่ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้  จำนวน  2,400,000  ล้านบาท  ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  จำนวน  277,000  ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลจาก     ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว  รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษี
    บางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี  ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ  พ.ศ.  2565  ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ  พ.ศ.  2564  จำนวน 91,037.5 ล้านบาท
  • จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายดำเนินการ

    1. บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด  คุ้มค่า  มีประสิทธิภาพ  และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด  หากแผนงาน/โครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก  เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการในแผนงาน/โครงการอื่นต่อไป

     2. ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง  ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน

     3. ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ  การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

     4. จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณต้องพิจารณานำเงินดังกล่าว  เช่น  เงินรายได้  เงินสะสมคงเหลือ  มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก  ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ  ปรับลด  หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น  รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน  เช่น  การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public  Private  Partnership  : PPP)  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand  Future  Fund : TFF)  เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ  และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 
2.  ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. 2565

  • ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ  4 ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ  เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา  ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019  และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  ประกอบด้วย

  1)  การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local  Economy)  โดย

  •  ส่งเสริมการจ้างงาน  ทั้งการจ้างงานใหม่ในพื้นที่  กลุ่มบัณฑิตจบใหม่  รักษาการจ้างงานในสาขาที่ได้รับผลกระทบ  และการสร้างงานที่สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต
  •  การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME  แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง  ส่งเสริมการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่สนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ   และปรับโครงสร้างปัจจัยแวดล้อม
  •  การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง  ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค  และสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค/กลุ่มจังหวัด

  2)  การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future  Growth)  โดย

  •  การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร  โดยขยายช่องทางการตลาดแพทย์แผนไทย/ปัจจุบัน  ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
  •  การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ  โดยส่งเสริมการลงทุนและรูปแบบ            การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ  และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่น
  •  การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล  พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย  ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
  •  การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร  โดยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน  ส่งเสริมผู้ประกอบการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่
  •  การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่  โดยสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ/แรงงาน  และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

  3)  การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human  Capital)  โดย

  •  การยกระดับ  ปรับทักษะ  และส่งเสริมการเรียนรู้  โดยส่งเสริมแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรมทักษะ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน  ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล  และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแรงงาน
  •  การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม  โดยช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยคนยากจน/กลุ่มเปราะบาง  ผลักดันแรงงานให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม  พัฒนาระบบช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  และพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม
  •  การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ  โดยพัฒนาระบบปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ  สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ ภูมิคุ้มกันร่างกาย/จิตใจ  กระจายบริการสาธารณสุข  และปฏิรูประบบประกันสุขภาพ

  4)  การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling  Factors)  โดย

  •  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่  โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์
  •  การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล  โดยปรับปรุงและพัฒนาฐานข้อมูลแบบบูรณาการ  นำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการประชาชน  และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ
  •  การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม  โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตเป้าหมาย และแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรค
  •  การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง  โดยส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลในการบูรณาการระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉิน  ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่และส่งเสริมให้ครัวเรือนบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
  •  การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา  โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคส่วนอื่น ๆ ในการพัฒนาประเทศ ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ

  สุดท้ายนี้ ขอให้หน่วยรับงบประมาณ  นำประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว  มาใช้ประกอบ การจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  และจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2564

บทความที่เกี่ยวข้อง
close
หน้าแรกประเด็นเด็ดข่าวดังท้องถิ่นข่าวประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นวาไรตี้กิจกรรมรวมคลิป