close

หน้าแรก

menu
search

ม้วนเดียวจบ! ครบทุกข้อมูลเลือกตั้ง อบต.

schedule
share

แชร์

          วันนี้ (15 ก.ย. 64 ) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณาตามที่กระทรวงมหาดไทยและกกต. เสนอ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. 64 และเตรียมประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 1 ต.ค. 64 ซึ่งจะมีผลให้นายกอบต.และส.อบต.พ้นจากตำแหน่งทันที ซึ่งเมื่อนับจากวันนี้จะเหลือเวลาทำงานอีกเพียง 15 วันเท่านั้น

 

          สำหรับรายละเอียดไทม์ไลน์การเลือกตั้งนายกอบต.และส.อบต.มีดังนี้ 

 

          การเลือกตั้งในรูปแบบ อบต. ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากอบต. เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  ในปัจจุบันมีอบต. จำนวน 5,300 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563)

 

          จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

          สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้งละ 1 คน โดยกำหนดเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่ หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และรวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

หาก อบต. ใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วยสมาชิก (ส.อบต.) จำนวน 6 คน โดย

 

          – ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. 6 คน
          – ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน
          – ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน
          – ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรก เขตเลือกตั้งละ 1 คน
          – ถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

          และกำหนดให้มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 1 คน โดยใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระและเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

 

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
          สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 49 และมาตรา 50 ประกอบพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2562 มาตรา 47 ทวิ และ 58/1 ได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้

 

คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
    2. ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
    3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรบริหารส่วนตำบลที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
    4. สำหรับผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 

1. ติดยาเสพติดให้โทษ
2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 39 (1) เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช(2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่และ (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง
6. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
7. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
9. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิตนำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
13. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
14. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
15. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
16. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
18. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
19. เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
20. อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 42 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
21. เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
22. เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
23. เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตน ระหว่างกัน และยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
24. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
25. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
26. ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

การสมัครรับเลือกตั้ง

          ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบล พร้อมทั้งหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัคร ดังนี้

 

หลักฐานและเอกสารประกอบการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง
1. ใบสมัครรับเลือกตั้งตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/1
2. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก หรือ รูปภาพที่พิมพ์ชัดเจนเหมือนรูปถ่ายของตนเองขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนตามที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
5. ใบรับรองแพทย์
6. หลักฐานการศึกษา (กรณีสมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล)
7. หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งเว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษีตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/2
   

          ทั้งนี้ ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง สามารถขอคัดสำเนาหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 ปี (2561 , 2562 , 2563) ได้ที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

 

ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้ง
1. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 1,000 บาท
2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2,500 บาท

ทั้งนี้ การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครมีโทษตามมาตรา 120 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 
          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง

มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
          บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย

วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

          บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

          บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
                    – บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
                    – ใบขับขี่
                    – หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฯลฯ

 

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

  1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
          ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
          ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

  1. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
          หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

 

 

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
          ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

 

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

– มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล

– เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

– เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

– เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

– มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

– ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

– มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

 

          กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

 

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

– สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.

– สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

– เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.

– ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

– ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่- ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
– การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

 

การอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการลงคะแนนเลือกตั้ง

          กกต.ได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของ กปน.
ในการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือ กปน. เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

 

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

ตรวจสอบรายชื่อ
          ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง

 

ยื่นหลักฐานแสดงตน
          แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

 

รับบัตรเลือกตั้ง
          ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

 

ทำเครื่องหมายกากบาท
เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
          – บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
          – บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
          – หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง

 

หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง
          นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

 

เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง
ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.

 

การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น
ห้ามมิให้

– ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน
– ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับจาก กปน. ชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
– ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
– ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
– ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
– ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
– ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
– ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใดหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
– ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งหรือเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
– ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
– ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

 

(ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

 

ม้วนเดียวจบ! ครบทุกข้อมูลเลือกตั้ง อบต.

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชี้เป้า! มหาสงกรานต์ท้องถิ่น ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ชี้เป้า! มหาสงกรานต์ท้องถิ่น ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

  เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 เพิ่มความพิเศษด้วยการเฉลิ…

schedule
เปิดตัว! โครงการ “1 ตำบล 1 ทนายความ” นำร่องอบต. 14 แห่ง

เปิดตัว! โครงการ “1 ตำบล 1 ทนายความ” นำร่องอบต. 14 แห่ง

สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย จับมือ สภาทนายความฯ เปิดตัว “โ…

schedule
สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา

สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา

กทม. เปิดวิสัยทัศน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุง…

schedule
หนุนท้องถิ่นป้องกัน – คุมไฟป่า นำร่อง 19 อปท. จังหวัดเชียงใหม่

หนุนท้องถิ่นป้องกัน – คุมไฟป่า นำร่อง 19 อปท. จังหวัดเชียงใหม่

ราชกิจจาฯ ออกประกาศ ก.ก.ถ. ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]