อบจ. 49 แห่งรับมอบภารกิจถ่ายโอน "สถานีอนามัยฯ - รพ.สต." แล้ว 3,265 แห่ง 'วิษณุ' เชื่อท้องถิ่นบริหารจัดการได้ จากประสบการณ์จัดการโควิด-19 ย้ำ 'กระทรวงมหาดไทย' 'กระทรวงสาธารณสุข' ยังเป็นพี่เลี้ยง
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นำโดย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะนายกสมาคมฯ พร้อมด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และตัวแทนจาก 49 จังหวัด ร่วมลงนามในพิธีส่งมอบภารกิจถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,265 แห่ง ให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนาม
นายวิษณุ กล่าวว่า ตลอดมามีความพยายามถ่ายโอนภารกิจหลายอย่างจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ผู้นำที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้เข้ามาบริหารจัดการตามวาระที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของการถ่ายโอนหน้าที่-อำนาจจากส่วนกลางมายังท้องถิ่น ระยะแรกเป็นธรรมดาที่จะเกิดความไม่ไว้วางใจ ทั้งจากฝ่ายผู้โอน และผู้รับโอน
“ผมมีความหวังว่า อปท. ที่รับโอนภารกิจไป จะสามารถทำภารกิจนี้ได้ ภารกิจครั้งนี้เดิมพันสูง เพราะเจ้านายที่เลือกท่านเข้าไปจะเป็นผู้ประเมิน ว่าที่ท่านทำผ่านหรือไม่ เจ้านายที่ว่านั้นก็คือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของสาธารณสุข อาจจะมีความแตกต่างจากภารกิจอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพ อนามัย ดังคำกล่าวชีวิตเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้ แต่หากพิจารณาจากการจัดการเรื่องโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นนั้นสามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งหวังว่า อปท.ที่รับถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.ไปแล้ว มีบุคลากรแล้ว จะสามารถบริหารจัดการได้ดีตามสมควร”
นายวิษณุ กล่าวต่ออีกว่า แม้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่เมื่อมีคนป่วยบาดเจ็บก็ต้องมีการส่งต่อไปยังหน่วยที่ใหญ่ขึ้น ตรงนี้ต้องมีการติดตามประสานงานกันต่อไป อีกทั้งด้านบุคลากร เวชภัณฑ์ สิ่งต่างๆ ต้องพร้อม ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นส่วนกลาง ยังต้องติดตามช่วยเหลือและมีการประเมินกันต่อไป เชื่อว่าระยะเวลาประมาณ 1 ปี การถ่ายโอนจะเป็นไปโดยเรียบร้อยตามแผนที่คาดการณ์เอาไว้
ภายในงานยังมีการจัดประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง สรุปปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายโอน รพ.สต. โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภาจกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายมงคลชัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด อยากเห็นระบบสาธารณสุขที่เข้าใกล้ประชาชนมากขึ้น อยากเห็นศูนย์บริการทางการแพทย์ที่สามารถให้บริการประชาชนได้ทันทีทันใด และอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล หรือ อบต. มีความเข้มแข็ง ล่าสุด คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ทราบมติว่า ต่อไปนี้ อปท. โดยเฉพาะ อบจ. มีสิทธิที่จะตั้งของบประมาณจากกลุ่มจังหวัดและงบประมาณจังหวัดได้ ซึ่งฝ่ายบริหารก็พยายามผลักดันนโยบายอยู่เสมอ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง
ด้านนายเลอพงศ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ ก.ก.ถ. มีมติเห็นชอบ ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารภาจกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566 ให้มีการถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 3,265 แห่ง ให้กับอบจ. 49 แห่ง โดยที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า 512 แห่งนั้น หมายถึงจำนวน รพ.สต.ที่สำนักงบประมาณของบประมาณผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 2,753 แห่งนั้นมีการส่งมอบแน่นอนเช่นกัน โดยในวันนี้ในเอกสารที่จะลงนาม จะระบุความชัดเจนว่าแต่ละ อบจ. จะได้รับถ่ายโอน รพ.สต. กี่แห่ง ชื่อ รพ.สต.อะไรบ้าง มีจำนวนบุคลากร และรายชื่อยืนยันตรงกัน เป็นบัญชีแนบท้าย
"สำหรับเรื่องงบประมาณ ส่วนแรกที่เป็นเงินเดือนบุคลากรมีการยืนยันยอดตรงกันแล้ว โดยสำนักงบฯ จะจัดสรรให้กับ อบจ. 49 แห่งที่เป็นหน่วยรับงบประมาณตรง งบประมาณอีกส่วนที่เป็นงบฯ สนับสนุนพิเศษที่ ก.ก.ถ.ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือที่เรียกสั้นๆ ว่างบ SML นั้น ในจำนวน 512 แห่ง สำนักงบประมาณจะจัดให้ตามขนาดของ รพ.สต. ได้แก่ 4 แสน 6.5 แสน และ 1ล้านบาท ในส่วนที่เหลือ 2,753 แห่งนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นพี่เลี้ยงนำพา อบจ. 49 แห่งทำเรื่องแปรญัตติเพิ่มเติมเข้าไปในวาระที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะอนุฯ เสนอในยอด 1 ล้าน 1.5 ล้าน และ 2 ล้านบาท ในส่วนนี้ต้องรอสภาฯ ว่าจะอนุมัติในยอดที่เท่าไร" นายเลอพงศ์กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ธัชเฉลิม กล่าวว่า การออกแบบการบริหารงาน รพ.สต. กับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ต้องอาศัยผู้นำท้องถิ่นในการออกแบบระบบของตัวเองตามบริบทของแต่ละท้องที่ ตามหลักการกระจายอำนาจฯ ที่ต้องให้คนที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจ สำหรับ สสส. และ สปสช. มีช่องทางสำหรับการสนับสนุนเงินงบประมาณอย่างหลากหลาย ที่พร้อมจะสนับสนุน อบจ. ในการบริหารงาน รพ.สต.