วัน เสาร์ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
menu
หน้าแรก ประเด็นเด็ด keyboard_arrow_downข่าวดังท้องถิ่น keyboard_arrow_downข่าวประชาสัมพันธ์ keyboard_arrow_down
อ่านต่อ
ท้องถิ่นวาไรตี้ keyboard_arrow_down
อ่านต่อ
กิจกรรม รวมคลิป keyboard_arrow_down
หมวดหมู่ :

ชวนท้องถิ่นแฉ “ขบวนการสูบเลือด อปท.” ผ่านการจัดฝึกอบรม

access_time
ธันวาคม 08, 2020

  กรณี นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ได้รับเรื่องร้องเรียน ปน ร้องทุกข์จาก นายกอปท. & ปลัดอปท. จำนวนมากว่า ปัจจุบัน มหาดไทย กับ กรมสถ. ออกระเบียบ และหลักเกณฑ์หลายเรื่องให้อปท.ถือปฏิบัติ แต่ไม่จัดประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ทำให้เป็นช่องว่างให้ คนของมหาดไทย ใช้เป็นแนวทางทำมาหากินกับคนท้องถิ่น โดยร่วมมือกับสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน จัดโครงการอบรมในราคาแพง โดยการล็อคตัวขรก.ในสังกัดของมหาดไทยที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ ไว้ มิให้หน่วยงานอื่นได้เชิญไปบรรยายได้ อันเป็นกระทำหรือมีพฤติกรรมเป็นลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้ง หลายจังหวัดยังร่วมมือด้วยโดยการขอความร่วมมือแกมบังคับให้อปท.ส่งข้าราชการในสังกัดเข้าอบรมแห่งละ 3-5 คน เพื่อกำหนดเป้าโดยมีการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกัน

  …เรื่องนี้ ผมกำลังร่างหนังสือจะส่งไปยังคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาผู้แทนให้ช่วยตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้เร็วๆ นี้ครับ ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมส่งมาให้ด้วยนะครับ…”

  นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับนิตยสารผู้นำท้องถิ่น ออนไลน์ว่า ตามกฎหมายแล้ว อำนาจในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน้าที่โดยตรงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)  โดยกรม สถ.ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี เป็นการอบรมให้ความรู้ตามสายงาน ตามตำแหน่ง ซึ่งแต่ละตำแหน่งใช้ระยะเวลา 2-5 สัปดาห์ ทั้งนี้ เนื่องจาก สถ.มีหน้าที่เสนอร่างระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกาศใช้เป็นแนวทางปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกันทั่วประเทศ

   ความสับสนจากแนวทางปฏิบัติที่ไม่เคยถูกชี้แจง

  ที่ผ่านมาเมื่อ สถ.ออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ใดมาแล้ว ไม่เคยเชิญ อปท. หรือผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัดไปประชุมชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในระเบียบหรือหลักเกณฑ์นั้นๆ ร่วมกัน สร้างความสับสนให้กับท้องถิ่น เนื่องจากแนวทางปฏิบัติในแต่ละเรื่องบางครั้งออกมาแล้วมีการแก้ไขหลายรอบ

  ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณฯ ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ประกาศใช้ทุกปี หรือในด้านการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีการแก้ไขระเบียบหลายครั้งและมีการออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ส่วนนี้สร้างภาระให้กับอปท.ทั้งสิ้น

  “สถ.ควรเป็นผู้เชิญตัวแทนของจังหวัดไปประชุมชี้แจงเพื่อให้เข้าใจว่าหลักเกณฑ์และระเบียบที่ออกมา มีการแก้ไขอะไรบ้าง เจตนารมณ์ในการแก้ไขเป็นอย่างไร แล้วจึงมอบให้ตัวแทนของแต่ละจังหวัด นำมาประชุมชี้แจงให้ อปท.ในแต่ละจังหวัดได้มีความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นยึดถือปฏิบัติกัน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นหน้าที่โดยตรงของ สถ. ที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ อปท.ทำงานบริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ”

  ช่องโหว่ของกฎหมาย

  เมื่อ สถ.ไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้ ทำให้ท้องถิ่น 7,850 แห่งทั่วประเทศ เกิดความสับสน เป็นช่องว่างให้สถาบันฝึกอบรมต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันฝึกอบรมของรัฐ ที่เป็นสถาบันการศึกษา จัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้โดยที่ไม่มีองค์ความรู้ แต่ใช้วิธีติดต่อให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและสถ.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบระเบียบหรือหลักเกณฑ์เหล่านั้นมาเป็นวิทยากรให้ และจัดการฝึกอบรมโดยอาศัยช่องว่างของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการฝึกอบรมฯ ที่ให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐจัดอบรมให้กับบุคลากรของ อปท.ได้ โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูงในการเรียกเก็บค่าลงทะเบียนไว้ เท่าที่ทราบมาราคาค่อนข้างสูง หรือแพงมาก เช่น อบรม 2 วัน 3,900 บาท 3 วัน 4,900 บาท ซึ่งบุคลากรของท้องถิ่นในทั่วประเทศมีจำนวนมาก และการจัดฝึกอบรมดังกล่าว ก็มีเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะงานบุคคล การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปีๆหนึ่งท้องถิ่นต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการจัดอบรมแบบนี้รวมกันนับพันล้านบาท ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความน่าสงสัยถึงความโปร่งใสในการดำเนินการ

 ความอึดอัดใจของท้องถิ่น

  นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีบางจังหวัดที่ออกหนังสือเอง โดยขอให้ อปท.ส่งบุคลากรเข้าอบรมแห่งละ 2-5 คน ประสานผ่านท้องถิ่นอำเภอ โดยให้ท้องถิ่นอำเภอโทรตาม อปท. เพื่อขอให้ส่งรายชื่อให้ครบ ส่วนใหญ่จะโทรหานายกอปท. ด้วยความเกรงใจก็ต้องส่งคนไป ท้องถิ่นบางส่วนกลัวจะมีปัญหาติดขัดเมื่อถึงเวลาต้องส่งเอกสารขออนุมัติขออนุญาตอำเภอหรือจังหวัด ก็จำใจต้องส่งคนไปตามที่ต้องการ ปัญหาดังกล่าวคนท้องถิ่นทำได้เพียงพูดกันในสื่อออนไลน์ หรือเป็นการคุยกันเฉพาะกลุ่ม ไม่มีใครกล้าพูดออกสื่อหลัก

  ทางแก้ปัญหาที่ถูกเพิกเฉย

  ในสมัย “นายจรินทร์ จักกะพาก” เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เคยมีนโยบายสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการในสังกัด เดินสายจัดอบรมเอง ยกเว้นกรณีที่จังหวัดขอมา เนื่องจากเคยมีข่าวเจ้าหน้าที่ของ สถ.ที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง ไปร่วมกับหน่วยจัดอบรม จัดอบรมกันเองโดยอาศัยชื่อของมหาวิทยาลัย แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งขณะนั้น นโยบายมีความเข้มงวด ข้าราชการที่จะไปเป็นวิทยากรอบรม แม้แต่ไปช่วงเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องขอผ่านอธิบดีโดยตรง

  สมาคมฯ เคยเสนอไปว่า สถ.มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ควรเป็นผู้ที่ขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ในการจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ ให้กับบุคลากรของอปท. ให้ทั่วถึง อปท.มีหน้าที่ส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าลงทะเบียน

  ทุกวันนี้บุคลากรท้องถิ่นได้รับการพัฒนาไม่เท่าเทียมกันในตำแหน่งเดียวกัน บางแห่งมีงบก็ส่ง บางแห่งไม่มีงบหรือมีงบน้อยก็ไม่ได้ส่ง ซึ่งสถ.ก็ไม่เคยรับหลักการ

  ชวนท้องถิ่นร่วมผลักดัน

  ปัญหาคือเมื่อให้ส่งหลักฐาน หรือยืนยันชื่อของบุคคลที่ได้รับผลกระทบ คนท้องถิ่นมักจะกลัวมีปัญหา เพราะเมื่อมีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการเชิญผู้ร้องไปให้ถ้อยคำ หากส่งไปเพียงหลักฐานไม่มีการส่งชื่อหรือการเข้าให้ถ้อยคำ น้ำหนักของเรื่องก็จะเบา

 “มีหลายเรื่องที่คนท้องถิ่นรับรู้ว่าเป็นปัญหา แต่เมื่อขอให้ร่วมลงชื่อเพื่อร้องเรียน ขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา มักจะมีผู้แสดงตัวน้อย หรือไม่มีเลย ถ้าอปท.ไม่ช่วยกันในการผลักดันแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ก็จะอยู่ต่อไปแบบนี้ ไม่เกิดการแก้ไข อยากให้ อปท. ออกมาแสดงพลังร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น แต่รวมถึงประเด็นอื่นที่มองว่าเป็นปัญหาด้วย”

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
close
หน้าแรกประเด็นเด็ดข่าวดังท้องถิ่นข่าวประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นวาไรตี้กิจกรรมรวมคลิป