เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0211.3/ว 1733 เรื่อง มาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้จังหวัดแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเทศบาล ดำเนินการในการค้นหา และเฝ้าระวังคนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด – 10
โดยออกมาตรการออกมา 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเข้าสู่หมู่บ้านหรือชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บูรณาการความร่วมมือกับบุคลากรหน่วยงานต่างๆ อาทิ ข้าราชการ ท้องถิ่น แพทย์ประจำตำบล ผช.ผญ. สารวัตรกำนัน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. อปพร. ฯลฯ ร่วมกันค้นหาและคัดกรองกลุ่มที่มีความเสี่ยง 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่เดินทางมาจาก กทม. ต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน หรือผู้ที่เดินทางมาจากสถานที่เสี่ยง เช่น สนามมวยสนามกีฬาสถานบันเทิง ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม เป็นต้นไป และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือไปในสถานที่เดียวกันกับที่ผู้ป่วยโควิด-19 ปรากฏตัว
เมื่อพบผู้ที่เข้าข่ายตามข้างต้น ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่งรายงานรายชื่อให้เทศบาล หรือ อบต. และเฝ้าติดตามสังเกตอาการ 14 วัน รวมทั้งขอความร่วมมือกักตัวเองไม่น้อยกว่า 14 วัน
2. มาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อภายในหมู่บ้านหรือชุมชน ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ แจ้งเตือนราษฎรในหมู่บ้านว่า หากพบผู้ที่อาจจะติดเชื้ออยู่ในบ้านให้รีบแจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ทราบ และให้กำนัน ผู้ใหญ่ ฯลฯ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ อปท. ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อโรคและคัดกรองคนใกล้ชิดต่อไป กรณีที่มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านหรือชุมชน ให้ดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อไปร่วมกิจกรรมอย่างรวดเร็ว
3. การป้องกันและเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านหรือชุมชน ให้ อสม. ให้คำแนะนำผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน งดทำกิจกรรมนอกบ้าน งดไปในที่ชุมชน หลีกเลี่ยงการพบปะ และสัมผัสผู้ที่เดินทางกลับมาจาก กทม. ต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน หรือบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือไปในสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ 4. หมู่บ้านที่ไม่มีกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอประสานงานกับเทศบาล แจ้งต่อประธานกรรมการชุมชน และคณะกรรมการชุมชน ดำเนินการตามข้อ 1-3 และข้อที่ 5. กรณีที่มีหมู่บ้านหรือชุมชนพบผู้ติดเชื้อไวรัส ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดการเข้า-ออกหมู่บ้านเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อลดการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ