นายกเล็กนครนนท์ หารือสธ.ขอโควต้าวัคซีนโควิด-19 จัดงบพร้อมฉีดปชช.ในเขตเทศบาล 260 ลบ. ชี้อปท.กว่า 20 แห่งมีงบพร้อมซื้อ
วันที่ 11 มกราคม 2564 นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ได้เดินทางเข้าพบกับนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องการใช้งบประมาณส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านช่องทางเดียวกับรัฐบาล เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนช่วยกระจายวัคซีนป้องกันโรคให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง
นายสมนึก เปิดเผยว่า เท่าที่คุยกันในระหว่าง อปท. ด้วยกัน พบว่ามีเทศบาลกว่า 20 แห่งที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณ และตนเชื่อว่ายังมี อปท.ที่มีความพร้อมอีกจำนวนมาก ที่จะมาดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการในการป้องกันโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งท้องถิ่นแต่ละแห่งมีเงินสะสมอยู่แล้ว
นายสมนึกกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของเทศบาลนครนนทบุรีมีเงินสะสมอยู่กว่า 4 พันล้านบาท มีประชากรราว 2.5 แสนคน เทศบาลฯ ขอจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลจำนวน 4 แสนโดส สำหรับฉีดให้ประชากร 2 แสนคน จัดเตรียมงบไว้ 260 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้เทศบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เราเองมีความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรทางการแพทย์
กรณีความกังวลว่าหากท้องถิ่นมาดำเนินการเองจะซ้ำซ้อนกับรัฐบาลหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า หากรัฐบาลดำเนินการเองทั้งหมดอาจจะช้าและไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมดในจ.นนทบุรี เราจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด “เราเองก็เป็นเหมือนแขน เป็นขาให้รัฐบาลในการกระจายวัคซีนให้คนในพื้นที่ของเรา ตนได้หารือร่วมกับ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งท่านก็รับทราบและเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ท้องถิ่นต้องการเข้ามาช่วยเรื่องนี้” นายสมนึกกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลไม่อนุมัติเรื่องนี้ ท้องถิ่นจะหาซื้อวัคซีนจากแห่งอื่นหรือไม่ นายสมนึก กล่าวว่า คงจะไม่หาซื้อจากเอกชน เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความกังวลใจว่าวัคซีนจากเทศบาลจะมีคุณภาพไม่เหมือนกับที่รัฐบาลฉีดให้ ตรงนี้อยากให้มีมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาล
ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยฟรีประมาณ 70 ล้านโดส หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร โดยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดสกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้ อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม อีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทอื่นๆ อีกเพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย