สมาคมข้าราชการท้องถิ่นฯ ร่วมชี้แจง กมธ.กระจายอำนาจฯ ชงแก้ปัญหา 2 ประเด็น – ผู้สอบผ่านปลัดอบต.ระดับต้นที่ได้รับกระทบจากการปรับโครงสร้างอบต. และผู้สอบผ่านสายงานบริหารแต่ถูกวินิจฉัยขาดคุณสมบัติ จากความไม่ชัดเจนของเอกสาร
วันที่ 18 มิถุนายน 2563 นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเป็นตัวแทนสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ นำตัวแทนปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ระดับต้น รองปลัดอบต.ระดับต้น และผู้อำนวยการกอง/หัวหน้าสำนักปลัด (หน.สป.) ที่ได้รับผลกระทบกรณีการปรับโครงสร้างอบต.กระทบต่อตำแหน่งปลัดอบต.ระดับต้น และกรณีการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกสายงานผู้บริหาร ที่ตัวประกาศรับสมัครสอบกับประกาศขึ้นบัญชีการสอบขัดแย้งกัน ทำให้ผู้สอบผ่านหลายตำแหน่งประสบปัญหาเรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.63) โดยประเด็นที่สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย รับไว้เพื่อช่วยขับเคลื่อนแก้ไขนั้นมีเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น
ประเด็นที่ 1 กรณีการประกาศปรับโครงสร้างอบต.จากเดิมเป็นขนาดใหญ่ – กลาง – เล็ก เป็น ประเภทสามัญ สามัญสูง และประเภทพิเศษ โดยในประเภทสามัญให้ปลัดอบต.เป็นระดับกลาง ประเภทสามัญสูงให้ปลัดอบต.เป็นระดับสูง รองปลัดอบต.เป็นระดับกลาง / สำหรับประเภทพิเศษ ให้ปลัดอบต.เป็นระดับสูง ให้รองปลัดอบต.เป็นระดับกลางหรือระดับสูง ซึ่งประเด็นนี้ ทางสมาคมฯ และผู้ร้องคือกลุ่มรองปลัดอบต.ที่สอบผ่านบัญชีปลัดอบต.ระดับต้น ไม่เห็นพ้องด้วยกับการกำหนดให้อบต.ประเภทสามัญมีเพียงตำแหน่งปลัดอบต.ระดับกลาง เพียงอย่างเดียว เพราะมีอบต.ขนาดเล็กกว่า 2,000 แห่ง และเป็นอบต.มีรายได้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท (ไม่รวมเงินอุดหนุน)
โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไม่สามารถให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลได้ว่า ทำไมต้องให้ปลัดอบต.ต้นหายไปจากโครงสร้าง ทั้งๆ ที่ปลัดอบต.ระดับต้น คือตำแหน่งที่ควรจะมีไว้เพราะตำแหน่งปลัดอบต.นั้น เป็นตำแหน่งที่ต้องประสานสิบทิศ เป็นตำแหน่งคั่นกลางระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ จึงจำต้องมีการสั่งสมประสบการณ์ก่อนที่จะให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในอบต.ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีอบต.กว่า 500 แห่งไม่มีปลัดอบต.เพราะส่วนหนึ่งสายงานที่มีคุณสมบัติสอบปลัดอบต.ระดับกลางมีไม่เพียงพอ อีกทั้งเงินประจำตำแหน่งของปลัดอบต.ระดับต้นกับปลัดอบต.ระดับกลางมีความต่างกันถึง 10,000 บาท ซึ่งการปรับตำแหน่งเป็นปลัดอบต.ระดับกลางโดยฉับพลันนอกจากจะไม่สามารถสรรหาตำแหน่งปลัดอบต.ระดับกลางได้ครบถ้วนแล้ว ยังจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของอบต.เล็กๆ เพิ่มสูงขึ้น จึงสมควรให้คงปลัดอบต.ระดับต้นไว้ในอบต.ประเภทสามัญ นั่นหมายความว่า ให้กำหนดตำแหน่งปลัดอบต.ในอบต.ประเภทสามัญ เป็น ต้น/กลาง
สำหรับประเด็นที่ 2 กรณีผู้สอบผ่านบัญชีหลายบัญชี เช่น รองปลัดอบต.ระดับต้น / ผอ.กองระดับต้น / หัวหน้าสป.ระดับต้น เป็นต้น ติดดาวในใบรายงานตัวโดยคนของกรมสถ.อ้างว่า คนกลุ่มนี้อาจขาดคุณสมบัติ โดยให้ ก.จังหวัดเป็นผู้วินิจฉัยว่า ขาดหรือไม่ขาด (โยนเผือกร้อนให้ ก.จังหวัดแทนตน) โดยมีการพูดอย่างไม่เป็นทางการทั้งจากในไลน์ส่วนตัวของผู้เชี่ยวชาญฯ ไลน์กลุ่มผู้ขึ้นบัญชี ในเฟสบุ๊ค ในคลิปวีดีโอในการรายงานตัวผ่านสื่อออนไลน์ หรือล่าสุดการพูดผ่านที่ประชุมรายงานตัวเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า คนกลุ่มนี้คุณสมบัติไม่ครบตามว.58 (ธ.ค.58) ซึ่งการกล่าวอ้างดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างตามประกาศของคณะอนุกรรมการสรรหาฯเรื่องการขึ้นบัญชีและยกเลิกบัญชีผู้ผ่านการสรรหาฯ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ข้อความในประกาศฉบับดังกล่าว กลับไม่ปรากฎในประกาศรับสมัครสอบคัดเลือก/คัดเลือกลงวันที่ 15 พ.ย. 62 ซึ่งแตกต่างจากประกาศการรับสมัครฯเมื่อปี 2560 ที่มีการกำหนดคุณสมบัติให้เป็นไปตาม ว.58 ไว้ในประกาศรับสมัครฯ ด้วย
จึงเป็นการขัดกันของประกาศทั้งสองฉบับว่า จริงๆ ควรยึดตามประกาศฉบับใดกันแน่ เพราะผู้ร้องก็บอกว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามประกาศรับสมัคร ฝ่ายกรมสถ.ก็บอกว่า มาโดยถูกต้องก็จริงแต่เวลาบรรจุแต่งตั้งต้องดูตามว.58 ด้วย นี่จึงเป็นเหตุที่สมาคมฯเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจากเห็นว่า กรมสถ.กำลังใช้อำนาจที่มิชอบรังแกคนท้องถิ่นที่มีพละกำลังด้อยกว่า
สมาคมฯจึงต้องออกมายืนเคียงข้างพวกเราคนท้องถิ่น ทวงความเป็นธรรมให้ ในประเด็นนี้ เราเสนอให้ก.กลาง ดำเนินการได้ 2 วิธีคือ 1.แต่งตั้งไปตามปกติโดยยึดตามประกาศรับสมัครสอบคัดเลือก/คัดเลือก หรือวิธีที่ 2 ให้ยอมรับความบกพร่องของตนเองใช้วิธีปรานีปรานอมระหว่างกัน ไม่มีใครเสียประโยชน์ นั่นคือ ให้คนที่ก.กลางเห็นว่า คุณสมบัติยังไม่ครบถ้วน (ระยะเวลาครองตำแหน่ง) ให้ไปรักษาการในตำแหน่งที่ตนเองสอบได้และเลือกที่ลงเรียบร้อยแล้ว และเมื่อใดที่ระยะเวลาในการครองตำแหน่งครบถ้วนแล้วก็ให้ต้นสังกัดเสนอก.จังหวัดให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้มีผลตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนต่อไป เช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นผลดีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ มิใช่เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มที่สมาคมฯให้ความช่วยเหลือ เป็นกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งในบางเรื่องสมาคมฯ ก็ยังมิได้เห็นพ้องด้วยทั้งหมด เพราะบางเรื่องเช่น กรณีการให้รองปลัดอบต.หรือรองปลัดเทศบาลระดับต้น ที่ครองตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี สามารถสอบขึ้นเป็นปลัดอบต.หรือปลัดเทศบาลระดับกลางได้เลยนั้น ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเราเคยมีปัญหาในอดีตที่ลูกน้องข้ามหัวลูกพี่ให้เจ็บซ้ำน้ำใจกันมาแล้ว จึงต้องคิดให้รอบด้าน