นักวิชาการชี้ ท้องถิ่นถูกตรวจสอบมาก เพราะเข้าถึงการตรวจสอบมากกว่า เผยผลสอบคดีป.ป.ช. 3 ปี ร้อยละ 50 เป็นคดีผู้บริหารท้องถิ่น พบทุจริต 168 ลบ. ด้านส่วนกลาง-ภูมิภาค ทุจริต 400,000 ลบ.
วันที่ 12 มิถุนายน 2563 นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว “บรรณ แก้วฉ่ำ” ระบุข้อความว่า “ความโปร่งใส ไม่ใช่วัดจากจำนวนเรื่องร้องเรียน แต่ควรดูที่ระบบการตรวจสอบว่า ระบบสามารถทำงานได้หรือไม่
อบจ. เทศบาล อบต.เป็นตัวอย่างของหน่วยงาน ที่ระบบการตรวจสอบ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แตกต่างจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่เร้นลับไกลตาประชาชน ระบบการตรวจสอบเป็นอัมพาต…จนแทบจะไม่มีเรื่องร้องเรียนออกสื่อแต่อย่างใดเลย…แต่หลักฐานที่ยุติ กลับพบการทุจริตมากกว่า ท้องถิ่น
เรื่องร้องเรียนมีมาก ทำไมจึงไม่มองในมุมที่ว่า ประชาชนเขาตรวจสอบได้…และตามไปดูข้อสรุปที่ยุติว่าข้อร้องเรียนทั้งหลายทั้งปวงนั้น รับฟังว่าอย่างไร
เรื่องที่ถูกร้องเรียน แท้จริงแล้ว #ทุจริต หรือว่า #เพียงทำผิดระเบียบ คนนอกไม่รู้หรอกว่า ระเบียบที่ออกมาให้ท้องถิ่นใช้ มันเฮงซวยอย่างไร..เพราะคนที่ออกเกือบร้อยเปอร์เซ็น ไม่เคยทำงานใน อบต. เทศบาล อบจ.มาก่อน
ข้อมูลที่ชี้ชัด ต้องดูผลงานการตรวจสอบทุจริตที่ยุติแล้ว ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดว่า ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค มีการทุจริตสูงมาก..มากกว่า อปท.หลายเท่า ไม่ว่าจะนับโดยจำนวนครั้งและจำนวนความเสียหาย
เอกสารข้อมูลของ ป.ป.ช. ในภาพเอกสารนี้ หากใครคิดว่าข้อมูลนี้ไม่จริง ก็ดำเนินคดีกับผม…ฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบได้..เพราะผมตรวจสอบดีแล้ว”
นายบรรณ ยังโพสต์ภาพที่มีข้อความ ผลการดำเนินงาน ป.ป.ช. ระบุมูลค่าความเสียหายจากการทุจริต ปี 2556-2558 ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาและร่ำรวยผิดปกติ ประเมินมูลค่าความเสียหายได้ทั้งสิ้น 525,117.28 ล้านบาท แยกเป็นความเสียหาย ส่วนราชการ 53 เรื่อง 403,764.83 ล้านบาท คิดเป็น 76.89%, รัฐวิสาหกิจ 30 เรื่อง 121,183.63 ล้านบาท คิดเป็น 23.07%, ส่วนท้องถิ่น 110 เรื่อง 168.82 ล้านบาท คิดเป็น 0.04% พร้อมเขียนข้อความว่า “กระแสที่ว่าส่วนท้องถิ่นทุจริตเพื่อจะกอดอำนาจไว้ส่วนกลาง แต่ข้อมูลจริง ตามนี้ เขาอยู่ใกล้มือใกล้เท้าของชาวบ้าน”
เอกสารข้อมูลของ ป.ป.ช. ดังกล่าว มาจากการแถลงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการป.ป.ช.ครบรอบ 9 ปี ตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2558 โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น มีการระบุภาพรวมของการทำงานของ ป.ป.ช.ในช่วงเวลา 9 ปีว่า มีคดีที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 37,578 คดี เป็นคดีค้างเก่า 11,578 คดี คดีรับใหม่ 26,000 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 26,530 คดี คงเหลือ 11,048 คดี ซึ่งคดีทุจริตกว่า 50% ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหาร อปท., 25% เป็นข้าราชการระดับกลาง (ซี 8 – ซี 9), 15% เป็นข้าราชการระดับล่าง (ซี 8 ลงไป), 10% เป็นข้าราชการระดับสูง (ซี 10 ขึ้นไป) และ 5% คืออื่นๆ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ ศาล ฯลฯ