วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็น องค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้
ด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ประสงค์จะขอเปลี่ยนชื่อ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติความเป็นมาและเจตนารมณ์ ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงให้เปลี่ยนชื่อ องค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 ลงนามโดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
การขอเปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้อแท้ ได้ดำเนินการออกประชาคมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จำนวน 8 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมประชาคม 2,787 คน จากผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 3,710 คน คิดเป็นร้อยละ 75.12 โดยผู้เข้าร่วมประชาคมทั้งหมดเห็นด้วยที่จะเปลี่ยนชื่อจาก อบต.ท้อแท้เป็น อบต.ทองแท้ทั้ง 2,787 คน คิดเป็นร้อยละ 100 และได้รับความเห็นชอบจากสภา อบต.ท้อแท้ สมัยที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 เป็นที่เรียบร้อย จึงขอยื่นเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา จึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ โดยให้มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อบต.ทองแท้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร ตามลักษณะภูมิศาสตร์ จัดอยู่บริเวณทางทิศใต้ของอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากอำเภอวัดโบสถ์ ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยพื้นที่ในการเกษตรประมาณ 23,968 ไร่ พื้นที่สาธารประโยชน์ 106 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 3,426 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 27,500 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม
สำหรับที่มาของชื่อ อบต.ท้อแท้นั้น เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์หน้ารายงานพิเศษเคยได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยก่อนการเดินทางมาหมู่บ้านนี้ลำบากมาก หนุ่มต่างถิ่นเกิดชอบพลอกับสาวบ้านท่างาม (ในอดีตชื่อ บ้านท่าสาวงาม) เมื่อเดินทางมาจนถึงหมู่บ้านนี้ ก็เกิดความท้อแท้ใจ เพราะใช้เวลานานและต้องค้างคืน จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านท้อแท้” มาจนทุกวันนี้