ตัวแทน 3 สมาคมอปท. ยื่นหนังสือต่อกมธ.กระจายอำนาจฯ ร้องเรียนขอความเป็นธรรม หลังป.ป.ท.แถลงข่าวพบพิรุธ 52 อปท.ส่อทุจริตงบช่วยเหลือโควิด-19 สะเทือนภาพลักษณ์อปท. ทั่วประเทศ
วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะตัวแทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายจรัญ วงศ์สวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกัมพล กลั่นเนียม เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม และ 22 มิถุนายน 2563 ว่าได้ตรวจสอบเบื้องต้น กรณีที่อปท.จัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 โดยพบข้อสังเกตพบว่ามีผิดปกติจำนวน 16 รูปแบบ ซึ่งเป็นไปในลักษณะว่า อปท. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต โดยมีนายประเสริฐพงศ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ.การกระจายอำนาจฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน
ทั้งนี้ 3 สมาคมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นตรงกันว่า การที่หน่วยตรวจสอบอาศัยเพียงข้อมูลที่เป็นข้อร้องเรียนหรือเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ที่ผู้ถูกตรวจสอบยังไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งในเหตุผลของการดำเนินงาน และยังไม่มีการสอบสวนให้ได้ความจริงที่ยุติ แต่กลับนำมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่ออปท. จึงขอพื้นที่เพื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชน เพื่อขอทำความเข้าใจกับประชาชนและป.ป.ท. พร้อมขอความร่วมไปยังหน่วยตรวจสอบอื่นๆ ด้วย ดังนี้
ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการทุจริตทุกรูปแบบ
3 สมาคมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการทุจริตทุกรูปแบบ และที่ผ่านมา ทุกอปท.ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยตรวจสอบต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ตลอดมา
อุปสรรคด้านงบประมาณและปัญหาเครื่องมืออุปกรณ์ขาดตลาด
เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามนั้น มีปัญหาขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีราคาสูง และมีการกักตุน เช่น กรณีหน้ากากอนามัย อปท.ทั่วประเทศได้ระดมสรรพกำลัง ทั้งงบประมาณและบุคลากรออกทำการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ แม้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลแจ้งให้ราชการส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการ ก็จะถูกส่งต่อมาให้ อปท.ดำเนินการแทน โดยใช้งบประมาณของ อปท.เองในการดำเนินการ มีเพียงการจัดอบรมเพื่อทำหน้ากากผ้าเท่านั้นที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้กับเทศบาลและอบต. ซึ่งมีอยู่ถึง 7,852 แห่ง เพียง 225 ล้านบาท ซึ่งอปท.เองก็ได้จัดสรรงบประมาณสมทบจนสามารถผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายประชาชนได้ถึง 50 ล้านชิ้น
ขาดความชัดเจนด้านระเบียบและมีปัญหาด้านการตีความเพราะเป็นเรื่องใหม่
การใช้จ่ายงบประมาณของ อบจ. เทศบาล และ อบต.ในปัจจุบันนี้ กฎหมายยังคงกำหนดให้ กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบเพื่อกำหนดว่า อะไรเบิกจ่ายได้บ้างโดยอปท.ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบัญญัติเองในขณะที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่จะต้องใช้ในการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยยังไม่ออกระเบียบมารองรับให้ อปท.ทำงานในเรื่องใหม่ดังกล่าว แม้ในช่วงวิกฤติกระทรวงมหาดไทยจะทยอยออกหนังสือแจ้งหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติออกมาแต่ก็ไม่มีความชัดเจนและยังมีปัญหาตีความ ดังนั้น อปท.จึงทำงานอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับหลายปัจจัย ซึ่งจะต้องตัดสินใจ โดยที่สุดก็ต้องดำเนินการไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องถิ่นตนเองเป็นสำคัญ
การสอบสวนเรื่องทุจริตยังไม่ถึงที่สุด
หลังจากที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มลดน้อยลง หน่วยตรวจสอบได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของอปท.อย่างเข้มข้น ซึ่งเรายอมรับ และยินดีให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือหลังจากที่หน่วยตวจสอบโดยเฉพาะป.ป.ท. ได้เข้าไปตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้นโดยยังไม่ได้มีการสอบสวนถึงพยานหลักฐานให้ชัดเจนตามกระบวนการ และผู้ถูกตรวจสอบก็ยังไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลโต้แย้งถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการหรือแสดงหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาตามกระบวนการที่ควรจะเป็น และยังไม่รู้ว่าสรุปสุดท้ายมีการทุจริต ตามที่หน่วยตรวจสอบกล่าวหาหรือไม่ แต่กลับมีการเปิดแถลงข่าวให้ข้อมูลให้กับสื่อมวลชนในลักษณะ อปท.มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทาง 3 สมาคมฯ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออปท.ในภาพรวม ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ตรงข้อเท็จจริง สร้างความเสื่อมเสียในภาพรวมให้กับ อปท.ทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้บุคลากรของ อปท.อยู่ในสภาพขวัญเสีย หวาดกลัว ไม่กล้าที่จะปฏิบัติในสิ่งที่นอกเหนือจากงานประจำ
เรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างเท่าเทียมกันทุกองค์กร
อปท.มีจำนวนถึงกว่า 7,000 แห่ง จึงมีโอกาสที่ถูกร้องเรียนมาก แต่ตามข้อเท็จจริงเมื่อเทียบสัดส่วนการทุจริตน้อยกว่าส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจหลายเท่า ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยัง ป.ป.ท. และหน่วยตรวจสอบทุกองค์กร ให้ตั้งมั่นในมาตรฐานการตรวจสอบ ยึดถือคุณธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในการแถลงข่าวไม่ควรใช้เพียงข้อมูลจากการร้องเรียนหรือเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
มิฉะนั้นหน่วยตรวจสอบอาจกลายเป็นต้นเหตุของปัญหา ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือไม่ให้ความร่วมมือต่ออปท.ในการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการทำงานในระดับพื้นที่ของผู้ปฏิบัติมากยิ่งขึ้น และอาจถูกมองว่า หน่วยตรวจสอบตกเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้ที่ไม่ประสงค์ให้เกิดกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นอีกด้วย