“รองนายกฯ สมศักดิ์” ประชุมกรรมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เล็ง ให้ อปท.มีภารกิจช่วยป้องกันไฟป่า – สัตว์ป่าทำร้ายคน จ่อลงนามเอ็มโอยูทุกหน่วยงาน หวังแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม พร้อมเร่งรัดแผนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 หลังของเดิมหมดอายุและไม่ทันสมัย
วันที่ 1 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุ แย้มแสง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการ เข้าร่วม ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการฯ ได้รับข้อร้องเรียนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ P.Move) ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางดำเนินการ จำนวน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย 2.ด้านการกระจายอำนาจ และ 3.ด้านนโยบายป้องกันภัยพิบัติ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมมือกับชุมชนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติและการฟื้นฟูเยียวยาส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติ ในรูปแบบ 1 ท้องถิ่น 1 ศูนย์ภัยพิบัติ และปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะของ P.Move ในด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เสนอแนวทาง 8 ข้อ ดังนี้ 1. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งและต้องเป็น ส.ส. 2. สว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 3. การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 4. การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 5. สิทธิสวัสดิการเป็นสิทธิเสมอภาค ไม่พิสูจน์ความยากจน ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งการศึกษา สุขภาพ งานและรายได้ ประกันสังคม การประกันรายได้ 6. สิทธิแรงงาน เสรีภาพการรวมตัว 7. การปฏิรูปที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดิน และ 8. การรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร
สำหรับด้านการกระจายอำนาจ เสนอแนวทาง 7 ข้อ ดังนี้ 1. ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง การกระจายอำนาจด้านการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนหลักสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และด้านงบประมาณ 2. ตรากฎหมายกำหนดให้ อปท. สามารถว่าจ้างให้ชุมชนองค์กรชุมชน กลุ่มภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพเข้ามาจัดทำบริหารสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 3. แก้ไขกฎหมายให้ชุมชน องค์กรชุมชน หรือเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในการดำเนินงาน สามารถเป็นหน่วยรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ
4. แก้ไขกฎหมายบรรดาที่จำกัดกรอบการเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมว่าต้องเป็นตัวแทนองค์กรชุมชนตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เท่านั้น 5. การตรากฎหมายเพื่อแก้ไขข้อจำกัด ขอบเขตการใช้หรืออุปสรรคต่อการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 6. ก.ก.ถ. ควรถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากส่วนราชการให้แก่ อปท. ให้เสร็จสิ้นตามแผน และ 7. ผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยตราระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดความชัดเจนของการจัดตั้งบริษัทจำกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา เพื่อให้บริการสาธารณะในเชิงพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้
ส่วนด้านการจัดการภัยพิบัติ เสนอแนวทาง 2 ข้อ ดังนี้ 1.นโยบายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน และ 2.(ร่าง)แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ควรจัดกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและเครือข่ายให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป และเพื่อการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และช่วยเหลือการทำงานของคณะกรรมการ ควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอนุกรรมการ
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ก.ก.ถ. ได้มีการพิจารณาการจัดทำประกาศ เรื่องการกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ อปท. ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือถึงการกำหนดภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าให้แก่ อปท. ในพื้นที่นำร่องจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี อปท. จำนวน 19 แห่ง เพื่อให้ อปท. มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายในเขตความรับผิดชอบของ อปท. โดยดำเนินการร่วมกับ กรมอุทยานฯ ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นสามารถเข้าไปช่วยป้องกันไฟป่าได้ โดยจะมีการลงนามความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อจะได้เดินหน้าแก้ปัญหาไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
“ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า ที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ประชากรช้าง ในปี 2534 มีจำนวน 1,975 ตัว แต่ในปี 2566 มีจำนวนเพิ่มเป็น 4,422 ตัว ซึ่งเมื่อมีจำนวนมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงหารือให้ อปท.มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพื่อป้องกันภัยอันตรายแก่ประชาชน ภายในเขตความรับผิดชอบของ อปท.” นายสมศักดิ์ กล่าว
โดยภายหลังการประชุม นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การประชุม ก.ก.ถ. วันนี้ ได้มีการหารือภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนภารกิจหน่วยงานอื่น เช่น ไฟป่า ปัญหาสัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งได้มีการหารือกันว่า อยากให้ อปท. เข้าไปมีส่วนร่วมทำให้สมบูรณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยจะให้มีการช่วยกันบูรณาการ จึงมีการเตรียมลงนามเอ็มโอยูหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3 ของเดิมได้หมดอายุมา 12 ปีแล้ว ซึ่งมาถึงรัฐบาลนี้ ตนก็เร่งรัดมาพูดคุยกัน โดยส่วนใหญ่ยังเห็นว่า เป็นแผนที่ไม่ทันสมัย เพราะร่างไว้หลายปีแล้ว จึงให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปทบทวนร่างของแผนฉบับที่ 3 ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม ก.ก.ถ. ต่อไป เพราะแผนฉบับที่ 3 ถือว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีการกำหนดภารกิจถ่ายโอนจากส่วนราชการอย่างชัดเจน