ทน.เกาะสมุย ร่วมกับ กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจัดตั้งทน.เกาะสมุย เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ ด้านการท่องเที่ยว “นครสมุย” ชี้ ทำรายได้กว่าปีละ 7 หมื่นล้าน แต่พัฒนาช้า
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมเพชรสมุย สำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ปลัดเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเทศบาล และเจ้าหน้าผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจัดตั้งเทศบาลนครเกาะสมุย (ทน.) เป็น องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษด้านการท่องเที่ยว “นครสมุย” ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน กรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและคณะ ประกอบด้วย อนุกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการและเลขานุการ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ และวิทยากรปฏิบัติการ
ในการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา อนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ปรึกษาและเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ ทน.เกาะสมุย และสื่อมวลชนเข้าร่วม
โดยในภาคเช้ามีการกล่าวแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาเกาะสมุย โดย นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวปาฐกถา “เกาะสมุย เมืองพิเศษ” โดยศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้ง ทน.เกาะสมุย เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ ด้านการท่องเที่ยว “นครสมุย” โดยรวบรวมความเห็นจากผู้แทน 5 คณะทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอเกาะสมุย ในฐานะผู้แทนส่วนราชการอำเภอ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคประชาชน และผู้แทนภาคสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสรุปในบทสุดท้ายของรายงานดังกล่าว และในภาคบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อยอภิปรายเรื่อง “คนสมุย เพื่อเกาะสมุย” มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มเยาวชน
ปัจจุบันความเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวของเกาะสมุย ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นการเคลื่อนย้ายแรงงานและประชากรแฝง เช่น ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค มลภาวะขยะและสิ่งปฏิกูล ความสะอาด ปัญหาผังเมือง และปัญหาการเสื่อมถอยของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่ ทน.เกาะสมุย ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่จัดการบริการสาธารณะมีข้อจำกัดต่าง ๆ
อีกทั้งเกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มีศักยภาพและมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในระดับสูง เนื่องจากเป็นที่รู้จักในระดับโลกและมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน จึงมีการสนับสนุนให้จัดตั้ง ทน.เกาะสมุย เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เพื่อให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการเกาะสมุย ซึ่งเป็นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะหรือลักษณะพิเศษ ด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำบริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาและพัฒนาเกาะสมุยให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป ประกอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 249 และมาตรา 250 บัญญัติไว้ความว่า “การจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ในกรณีของ อปท.รูปแบบพิเศษ จะให้มาจากวิธีอื่นใดก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย”
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการจัดตั้ง ทน.เกาะสมุย เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ ด้านการท่องเที่ยว “นครสมุย” ซึ่งเกาะสมุยทำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าปีละ 70,000 ล้านบาท ดังนั้น การบริหารราชการแบบกระจายอำนาจจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนา ให้มีความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องงบประมาณ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเกาะสมุย อย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เห็นถึงความจำเป็นในการจัดโครงการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้ง ทน.เกาะสมุย เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ ด้านการท่องเที่ยว “นครสมุย” ซึ่งหากจัดตั้งเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เกาะสมุยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ประชาชนจะได้ประโยชน์ในการปรับปรุงรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาภายในพื้นที่ที่เกิดจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน