ท้องถิ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน นักวิชาการย้ำ “คน” คือตัวแปรสำคัญ ให้ท้องถิ่นยึดมั่นหลัก “การมีส่วนร่วมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ระดมความคิดพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1/2567 ประจำปี พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 4 – 6 มกราคม 2567 เพื่อพัฒนาบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ที่ท้องถิ่นต้องรู้” โดย รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
ท้องถิ่นกับอนาคตที่ท้าทาย (Future Challenges)
รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ท้องถิ่นและเมืองในศตวรรษที่ 21 (Urbanization) มีแนวโน้มของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มสูงขึ้น และประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทลดลง ทั้งนี้ พื้นที่เมืองไม่ได้มีเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ชนบทจะพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้นแทน ในบางครั้งท้องถิ่นกลายเป็นเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ และเจอปัญหาจากกระบวนการกลายเป็นเมืองเหมือนกับเมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศ ดังนั้น ท้องถิ่นต้องหมั่นสังเกตว่ามีความพร้อมที่จะกลายเป็นเมืองมากน้อยเพียงใด ระบบสาธารณูปโภคที่มีในปัจจุบันรองรับความต้องการของประชาชนได้เพียงพอหรือไม่ ท้องถิ่นจะทำอย่างไรให้กระบวนการกลายเป็นเมืองอยู่ในสายตาได้ตลอดเวลา เพื่อวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ส่วนประเด็นความยั่งยืนคือ วาระของท้องถิ่นและโลก (Sustainability and SDGs) พีรดร กล่าวว่า ความยั่งยืนไม่ได้เป็นความท้าทายแค่กับท้องถิ่น แต่เป็นความท้าทายของโลกด้วย ตนคิดว่าท้องถิ่นมีภารกิจครอบคลุมเกือบทุกด้าน เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ความยั่งยืนมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ท้องถิ่นและโลกทำแท้จริงมีความสอดคล้องกันอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้มองภาพใหญ่ของประเทศในช่วงเวลานั้น ๆ ว่าเน้นการพัฒนาสอดคล้องกับวาระของโลกด้านใดบ้าง ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีแนวร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่กว้างขึ้น
พีรดร กล่าวอีกว่า การขยายตัวของเมืองไม่ได้มาพร้อมกับปัญหาของเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ประชากรก็เปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือ หลายประเทศในโลกได้เข้าสู่สังคม (ผม) สีเทา (Aging Population & Greying Cities) แล้ว โดยประเทศไทยก็ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเช่นกัน กลายเป็นความท้าทายที่ท้องถิ่นต้องเผชิญว่า มีความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด และจะจัดบริการให้กลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร
ในประเด็น เมืองต้องแข่งขัน ท้องถิ่นต้องแข่งขัน พีรดร กล่าวว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน เป็นการแข่งขันโดยการวัดศักยภาพของเมืองในการดึงดูดการลงทุน (Capital) การขยายธุรกิจ และการดึงดูดกลุ่มคนผู้มีทักษะและความสามารถ (Talent) Sources: Brookings Institute, The Economist Intelligence Unit โดยดัชนีชี้วัดขีดความสามารถของเมืองจะวัดที่ “ความพร้อมด้านทรัพยากรทางความคิด” (Intellectual Resources) มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี และปลอดภัย เป็นเงื่อนไขที่นักสร้างสรรค์และนวัตกรรมตัดสินใจเลือกที่อยู่
หลายพื้นที่ได้ให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นหลัก เนื่องจากการแข่งขันจะวัดจากการสำรวจศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาบุคลากรมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เมืองจะดีหรือไม่ดีสามารถตรวจสอบได้จากคุณภาพของท้องถิ่น เพราะทุกท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันจังหวัดให้เพิ่มสูงขึ้น หากท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง ขีดความสามารถของจังหวัดจะไม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จนทำให้ขีดความสามารถของประเทศหยุดชะงักไปด้วย พีรดรย้ำว่า “คนรุนใหม่” คือ หัวใจของท้องถิ่น ทำอย่างไรจึงจะทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นเห็นว่าท้องถิ่นให้ความสำคัญกับพวกเขา ดังนั้น การลงทุนที่เกี่ยวกับ “คน” จึงมีความสำคัญมาก
ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการมีส่วนร่วม (Citizen Centric Approach)
พีรดร กล่าวต่อว่า การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เครื่องมือท้องถิ่นยุคใหม่ จะทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นกระบวนการในการสร้างนวัตกรรมส่วนหนึ่งของ อปท. โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประยุกต์จากวิธีการคิดของนักออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงลึก การร่วมรังสรรค์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและทีมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และการสร้างแบบจำลองเพื่อทดสอบแนวคิด เช่น การพัฒนาบริการสาธารณะของท้องถิ่น
ตลอดจนการใช้เครื่องมือ Co – creation กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันของ อปท. และประชาชน ซึ่งเป็นการให้ประชานชนผู้รับบริการช่วยสร้างประสบการณ์การบริการให้เหมาะสมกับพวกเขา Co – creation ไม่ใช่การให้ประชาชน/ชุมชนมาเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการ แต่เป็นการร่วมกันดำเนินการสร้างคุณค่า ร่วมกันพัฒนาและสร้างบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของชุมชน/ผู้รับบริการ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการทำงาน การแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน และการให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
เนื่องจากปัญหาการจัดบริการสาธารณะของ อปท. ในระดับจุลภาค ยังไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น นอกจากนี้ การบริการสาธารารณะยังมีลักษณะที่ไม่เหมาะสม อันเป็นผลจากการให้บริการสาธารารณะที่ไม่ครบถ้วนทุกด้านและไม่ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม เช่น การคิดออกแบบป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ถนนเดินเท้าบริเวณสี่แยกถนนทองใหญ่ จังหวัดอุดรธานี และการเพิ่มทางเท้าบริเวณถนนไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
สำหรับประเด็น เทคโนโลยีดิจิทัล เปิดพื้นที่ประชาชนช่วยท้องถิ่นทำงานนั้น พีรดร กล่าวว่า ท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องของ อปท. เพียงอย่างเดียว โจทย์คือ ทำอย่างไรประชาชนถึงจะเข้ามาเป็นแนวร่วมในการทำงาน โดยเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อท้องถิ่นมากขึ้น จนหลายพื้นที่เริ่มขับเคลื่อนเมืองสู่ Smart City หรือ การพัฒนาเมืองจนทำให้ “คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น” ในหลายมิติ ได้แก่ การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การปกครองอัจฉริยะ (Smart Governance) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) และพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
พื้นที่กรณีศึกษา
ย่านสร้างสรรค์ เจริญกรุง เกิดจากแนวคิดพัฒนาเมือง ตามนโยบายภาพใหญ่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเสนอความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของพวกเขาอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มุ่งเน้นการออกแบบร่วมกัน หรือ (Co – Creation) ลงพื้นที่เข้าถึงผู้คนในย่านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการเสนอปัญหา ร่วมกันกำหนดความต้องการ และหาโอกาสการพัฒนา เพื่อออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์เจริญกรุงร่วมกัน
(ภาพจาก Brand Buffet)
ย่านเจริญกรุงไม่มีพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมนันทนาการ ทำให้คนในพื้นที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่ หรือประยุกต์ใช้พื้นที่ในลักษณะอื่น โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง จึงวางทิศทางการพัฒนาไว้ 3 แนวทาง คือ การพลิกฟื้น (Review) การสร้างโครงข่ายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Relink) และการสร้างการรับรู้ใหม่ (Rebrand) พัฒนาพื้นที่ว่างกลางแจ้งให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก เพื่อสร้างโครงข่ายพื้นที่สีเขียวภายในย่าน และเป็นที่พักคอยของผู้สัญจรไปมาภายในย่าน ให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย เอื้อประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านธุรกิจ การออกแบบ และการจัดกิจกรรมของชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อนมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ชุมชนและพื้นที่โดยรอบได้ต่อไป
ตลาดชุมชนบ้านร่ม เทศบาลนครยะลา โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของหลายฝ่ายที่ใช้การออกแบบเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ ซึ่งการออกแบบจะเป็นทำงานโดยเน้นการรับฟังความต้องการของชุมชน เพื่อนำไปสู่ออกแบบแผนการพัฒนาและสร้างโอกาส โดยทีมภูมิสถาปนิกที่เชี่ยวชาญออกแบบร่วมกับชุมชน ซึ่งการออกแบบจะอิงจากการศึกษาบริบท และความต้องการเฉพาะของพื้นที่มาออกแบบหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการตลาดนั้นไม่เพียงแต่เปิดพื้นที่ตลาดเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาในมิติอื่น ๆ ด้วย ทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นภายในตลาด การปรับปรุงทางเข้า ป้าย จุดเช็คอิน ปรับปรุงเส้นทางเข้าถึงตลาด มีการใช้งานออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์จากตัวพื้นที่ เช่น การออกแบบพื้นที่ริมน้ำเป็นจุดรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับประทานอาหารอร่อยไปพร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ โดยรวมแล้วตัวโครงการเน้นการเข้าถึงและให้ภาพบ้านร่มในมุมมองที่สงบงาม อิ่มเอม และปลอดภัย
การพัฒนาอย่างเป็นระบบของโครงการจึงไม่ได้อยู่ที่แค่การจัดตัวตลาดนัดและสาธารณูปโภคจำเป็นอื่น ๆ แต่ยังมีการค้นคว้า พูดคุย ทดลงจนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่สอดคล้องกับตลาด ดึงเอาฝีมือที่เคยอยู่ในพื้นที่ครัวจนออกมาเป็นสินค้าที่มีศักยภาพอีกด้วย
พีรดร กล่าวในตอนท้ายว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมด ท้องถิ่นต้องยึด “การมีส่วนร่วมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ในการคิดพัฒนาท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ หัวใจของการมีส่วนร่วมส่วนหนึ่ง คือ เครื่องมือที่บ่งบอกถึงความเท่าเทียมของการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น กระบวนการสร้างสรรค์ร่วมกัน เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนคิดทุกคนมีสิทธิและเสียงที่เท่าเทียมกัน สิ่งที่เขานำเสนอจะถูกนำมาใช้จริง ไม่ใช่การทำงานของ อปท. เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระในการคิดพัฒนาบริการสาธารณะลงไปมาก ส่งผลให้บริการสาธารณะที่ผ่านการถกเถียงมาแล้วนั้นมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างตรงจุด
“ท้องถิ่นเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของ อปท. เท่านั้น โจทย์คือ ทำอย่างไรทุกคนถึงจะเข้ามาเป็นแนวร่วมและกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนเมืองได้อย่างยั่งยืน” พีรดร กล่าว