นครยะลาศึกษาดูงาน ห้องเรียนนวัตกรรม FABLEARN LAB เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ โดยศึกษาโรงเรียนดรุณสิกขาลัย เป็นต้นแบบ
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา รองปลัดเทศบาลและผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เข้าศึกษาดูงานห้องเรียนนวัตกรรม FABLEARN LAB ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โดยเทศบาลนครยะลามีแนวคิดส่งเสริมเด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลนครยะลา ให้ใช้ห้องเรียน อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ทันสมัย เป็นสถานที่ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันนักเรียนโรงเรียนมัธยมทั้งของรัฐและโรงเรียนเอกชนในจังหวัดยะลา ได้คิดค้น สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมหลายอย่างที่สามารถต่อยอดพัฒนาจังหวัดยะลาได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ห้องเรียนนวัตกรรม FABLEARN LAB คืออะไร
จุดเริ่มต้นห้องเรียนนวัตกรรม FABLEARN LAB มาจากแนวคิด Fabrication Lab หรือ FabLab ของศาสตราจารย์ Neil Geschenfeld แห่งมหาวิทยาลัย MIT ซึ่งได้สร้าง FabLab ขึ้นสำหรับสร้างประสบการณ์การเป็นผู้ผลิตชิ้นงานและผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้สามารถเรียนรู้การสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ ได้ แม้ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมมาก่อน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่นิยมเกิด FabLab ขึ้นอย่างแพร่หลายในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดกระแส Maker อย่างรวดเร็วในประเทศต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากงาน Maker Faire ที่ได้มีการจัดขึ้นทั้งในประเทศสหรัฐเมริกา ยุโรป และเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2552 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Paulo Blikstein แห่ง Graduate School of Education มหาวิทยาลัย Stanford ได้นำแนวคิด FabLab มาปรับใช้กับสถานศึกษา และตั้งโครงการ FabLearn Lab ขึ้นมา โดยมุ่งใช้งานกับนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากมุมมองด้านการศึกษานั้น การที่เทคโนโลยี Fabrication ช่วยให้เปลี่ยน “ความคิด” หรือ “ความฝัน” ออกมาเป็นความจริงที่จับต้องได้ง่ายนั้น เป็นโอกาสทางการเรียนรู้ที่สำคัญ สามารถใช้เป็นโอกาสพัฒนาเยาวชนให้มีอุปนิสัยของนวัตกรที่คิดได้ทำได้ ลักษณะสำคัญของ FabLearn Lab ที่เพิ่มเติมเข้ามาจาก FabLab เดิมคือการให้ความสำคัญกับกระบวนการ “ในระหว่าง” ที่สร้างนวัตกรรมด้วย ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงที่ผลงานสุดท้ายที่ได้ FabLearn Lab มีการคิดสร้างแนวทางการพัฒนาผู้เรียนตั้งแต่การคิด การวางแผน การทำงานร่วมกับผู้อื่น ไปจนถึงการประเมินผลของงาน รับผลสะท้อนกลับและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นทักษะและศักยภาพในการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น
“เราอยากให้เด็กๆ มาโรงเรียนด้วยความคิดว่า “ฉันจะมาสร้างอะไรที่โรงเรียนดีนะวันนี้” เด็กๆ ควรจะเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่การท่องจำสูตรหรือตำรา แต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นั้น จะช่วยให้เขาแสดงความคิด จินตนการของเขาออกมาเป็นรูปธรรมได้” – ดร. เปาโล บลิกสไตน์ (2013)
DSIL FabLearn Lab@School ห้องเรียนนวัตกรรมในประเทศไทย
DSIL FabLearn Lab เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี Stanford University และประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การใช้เครื่องมือดิจิตอลในการสร้าง Rapid Prototype ได้แก่ เครื่องพิมพ์เลเซอร์คัทเตอร์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องพิมพ์ไวนิล (Vinyl) และอุปกรณ์การประดิษฐ์อื่น ๆ ทั้งอุปกรณ์ช่าง งานไม้ และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ เป็นต้น การประดิษฐ์นวัตกรรมในห้อง FabLab (Fabrication Laboratory) นี้ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยใช้ความรู้ด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านการสร้างสิ่งประดิษฐ์
DSIL FabLearn Lab@School เป็น FabLearn Lab แห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เปิดให้บริการที่อาคารสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ชั้น 10 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดยเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียน STEMA ผ่านการสร้างนวัตกรรม ในปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอน FabLearn Lab Class เพื่อปูพื้นฐานการเป็นนักประดิษฐ์และเป็นศูนย์การเรียนรู้สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านโครงงานในห้องเรียนของดรุณสิกขาลัย และจัดการฝึกอบรมด้านการออกแบบและการประดิษฐ์ด้วยเครื่องมือ Digital Fabrication และกระบวนการ Design Thinking เพื่อพัฒนาการการเรียนรู้
ทำไมห้องเรียน DSIL FabLearn Lab ถึงสำคัญ
“ เมืองไทยยังขาดเรื่องวิศวกรรมอย่างมาก กระทรวงวิทย์ฯ กำลังจะทำเรื่อง สะเต็ม (STEM) โดยเฉพาะ E Engineering สิ่งแรกที่จะทำคือ ‘ห้องประดิษฐกรรม’ หรือ Fab Lab (Fabrication Laboratory) ใครอยากเข้าไปทดลองอะไร ทดลองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแล็บเคมี แล็บชีวะ แล็บฟิสิกส์ แล้วเราก็จะแนะนำให้สถานศึกษานำไปใช้ เมื่อได้ตรงนี้แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมาเอง” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย 13 มกราคม 2559)