เทศบาลเมืองพระประแดงร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดงประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ชูความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมชาวรามัญ หรือชาวมอญ ซึ่งเป็นชนท้องถิ่นพื้นเมืองพระประแดง
นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง เปิดเผยว่า หลังจากเว้นช่วงการจัดประเพณีสงกรานต์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้สงกรานต์พระประแดงจะกลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยร่วมมือกับ ททท. เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยเปิดประเทศพร้อมรับการกลับมาอีกครั้งของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ สำหรับตารางการจัดกิจกรรมประกอบด้วย วันที่ 21 เม.ย. ประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย วันที่ 21-23 เมษายน ชมการละเล่นสะบ้ารามัญของแต่ละหมู่บ้าน การแสดงทะแยมอญ การแสดงแสง สี ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า การแสดงดนตรีไทยจากศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพระประแดง และการกวนกาละแม ของดีเมืองพระประแดง และในวันที่ 23 เมษายน ชมพิธีเปิดพร้อมขบวนแห่รถสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ ขบวนแห่นก-ปลา สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ชมพิธีปล่อยนกปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม และเชิญชวนเล่นน้ำสงกรานต์ ณ ปะรำพิธีหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง
สงกรานต์ของชาวพระประแดงมีเอกลักษณ์และประวัติมายาวนาน พระประแดง เดิมมีชื่อว่า “นครเขื่อนขันธ์” สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ย้ายครอบครัวชาวมอญ จากเมืองสามโคก ปทุมธานี จำนวน 300 คน มาตั้งถิ่นฐานที่นี่ และถือกำเนิดเป็นรากฐานหมู่บ้านชาวมอญจนถึงปัจจุบัน
เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง ก่อนวันสงกรานต์ 2-3 วัน แต่ละบ้านจะช่วยกันกวนขนม “กาละแม” บางบ้านก็จะทำข้าวเหนียวแดง เพื่อเตรียมนำไปทำบุญและแจกจ่ายญาติมิตรเพื่อแสดงไมตรีจิตของกันและกัน
บ้านใดหุงข้าวสงกรานต์ หรือข้าวแช่ ก็จะเชิญสาวๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันหุงต้มอาหาร เพื่อทำบุญ ในเวลาเช้าสาวที่ได้รับเชิญจะนำอาหารและข้าวสงกรานต์นั้นไปส่งตามวัดต่างๆ ครั้นเมื่อกลับบ้านจะมีการพรมน้ำรดกันเพื่อความสวัสดีสิริมงคล เมื่อสาวๆ กลับมาถึงบ้านที่ทำข้าวสงกรานต์ ก็จะเลี้ยงดูสาวๆ และญาติมิตรสหายเพื่อความรื่นเริงและผูกไมตรีต่อกัน
ตามหมู่บ้านชาวรามัญจะมีศาลเพียงตาปลูกไว้ เจ้าบ้านจะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้ที่ศาล พร้อมข้าวแช่ เป็นการสักการะ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจะทำได้ 3 วันคือ ระหว่าง 13-15 เมษายน
ในช่วงเวลากลางคืนตามหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้า หรือเรียกว่า บ่อนสะบ้า แต่มิใช่การเล่นเอาทรัพย์สินแต่อย่างใด เป็นเพียงการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง บางบ่อนเล่นกันนานถึง 7 วัน ตามบ่อนสะบ้าจะมีขนม “กวันฮะกอ” หรือ กาละแมเตรียมไว้ให้รับประทานด้วย รวมทั้งมีการร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อนสะบ้า แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ)
ในวันท้ายของเทศกาลสงกรานต์พระประแดง ถัดจากวันที่ 13 เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์ ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ นำขบวนนางสงกรานต์ ขบวนสาวรามัญหนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่างๆ เพื่อแห่นก-แห่ปลา ไปทำพิธีปล่อยนกปล่อยปลา ณ พระอารามหลวง วัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จพิธี หนุ่มๆ สาวๆ ในหมู่บ้านก็จะมาเล่นสาดน้ำกับสาวๆ ด้วยความสุภาพตลอดทางที่เดินกลับบ้าน