สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ชี้การขอโอนย้ายของพยาบาลวิชาชีพไปสังกัดรพ.สต.ของ อบจ.ศรีสะเกษ ต้องเป็นบุคลากรทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ไม่รวมทุติยภูมิและตติยภูมิ หวั่นส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรถึงขั้นปิดแผนกและส่งผลกระทบประชาชน
นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีที่มีพยาบาลจำนวนหนึ่ง จากโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดศรีสะเกษ นำโดยนายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ออกมาเรียกร้องเรื่องพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ มีความประสงค์ต้องการโอนย้ายไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษ ซึ่งถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 117 แห่ง ว่าไม่สามารถทำได้
เนื่องจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) พร้อมบุคลากรจำนวน 117 แห่ง ที่ได้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา มีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน หากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติมก็จะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอน ไม่รวมทุติยภูมิ และตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว การถ่ายโอนทำไม่ได้
นพ.ทนง กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลที่ อบจ.ศรีสะเกษส่งรายชื่อผู้ที่ประสงค์ขอถ่ายโอนช่วยราชการ มีจำนวนทั้งหมด 166 คน เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 112 คน ปฏิบัติงานที่ รพ.สต. จำนวน 7 คน นอกนั้นปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 105 คน ขณะที่บุคลากรพยาบาลในจังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,458 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 1: 593 เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ 1:373 ซึ่งถือว่า จ.ศรีสะเกษ ยังมีอัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่ในขณะนี้
“หากบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ถ่ายโอนผิดหลักการจะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นปิดแผนกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้ง จังหวัดศรีสะเกษ ที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยได้” นพ.ทนงกล่าว