กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) 5 มิติ ทั่วประเทศสร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สถ. ได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) เนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร กระทบต่อกำลังการผลิตอาหารทั่วโลกลดลง ทำให้ราคาอาหารแพงเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กไทยได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี เติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพ โดยผนึกกำลังร่วมกันดำเนินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (ปลูกผักรักษ์โลก)
โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้โรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงในการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรียน โดยให้ปลูกผักที่กินและกินผักที่ปลูก มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดีและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
“ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โดยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาใน 5 มิติ ทั้งในด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเกษตร เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่นักเรียนในสังกัดให้มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ บนหลักการของความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน โดยมีความรู้และคุณธรรมกำกับเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ” อธิบดีสถ. กล่าว
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด ปลูกพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับนักเรียน นอกจากนั้นยังขอให้สถานศึกษาบูรณาการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ
โดยจัดเป็นกิจกรรมเสริมในชั่วโมงเรียนในกลุ่มสาระการงานอาชีพ หรือสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย สร้างความตระหนักในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภคและการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังขอให้สถานศึกษาได้จัดให้มีถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เพื่อให้ได้สารบำรุงดินในการบำรุงพืชผักที่ปลูกด้วย (โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ถือเป็นกลไกในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร 1. ปลูกผักที่กิน และกินผักที่ปลูก 2.ร่วมกันจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมในการจัดการขยะที่ต้นทาง ทำให้ได้สารบำรุงดินไว้ใช้บำรุงพืชผักที่ปลูก ทั้งยังช่วยสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ผ่านกลไกของท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565