สำนักงานงบประมาณ เดินหน้าโครงการจัดหลักสูตรการบริหารงบประมาณท้องถิ่นระดับสูง ของ อปท.ที่รับผิดชอบ ในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้ตรงกับเป้าประสงค์ของระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์และนโยบายการกระจายอำนาจของประเทศอย่างแท้จริง
รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณแจ้งว่า ทางสำนักงบฯได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเตรียมพร้อมแก่ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในระบบงบประมาณท้องถิ่น (Local budget officers)ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมทั้งเพิ่มอิสระทางการเงินการคลังและการบริหารงบประมาณของ อปท.ตรงกับเป้าประสงค์ของระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ และนโยบายการกระจายอำนาจของประเทศอย่างแท้จริง
การปรับเปลี่ยนบทบาทของอปท.มาเป็นหน่วยขอรับงบประมาณตรงและจัดทำคำของบประมาณประจำปี ส่งต่อสำนักงบประมาณโดยตรงผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการทำงบประมาณของอปท.(BBL) ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งจำแนกได้ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้บริหารระดับสูงใน อปท. 2.ผู้บริหารระดับกลางที่รับผิดชอบด้านแผนงบประมาณและการเงิน และ 3.ข้าราชการปฏิบัติการที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำแผนงานและโครงการ ซึ่งทำหน้าที่สำรวจความต้องการของประชาชนพร้อมทั้งวิเคราะห์แผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับข้อมูลกลางในระบบสารสนเทศต่าง ๆซึ่งกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นและจัดทำคำของบประมาณ ที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของ ตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาคและประเทศอย่างแท้จริง
เป้าหมายของหลักสูตรการบริหารงบประมาณท้องถิ่นระดับสูง ของ อปท.ในครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในแนวทางการปฏิบัติโดยรวมของการจัดทำงบประมาณที่มี อปท.เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรงตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ,เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการข้อมูลสารสนเทศงบประมาณที่จำเป็นต่อการจัดทำคำของบประมาณผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำงบประมาณของ อปท.(BBL) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่น (One Plan)มาสู่รายละเอียดแผนงานโครงการ กิจกรรม และรูปแบบรายงานให้สอดรับกับประมาณการรายได้และประมาณการรายจ่ายของ อปท.ตามสภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ระดับภูมิภาค ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ,สร้างเครือข่ายความร่วมมือและการปรึกษาหารือระหว่างผู้มีบทบาทต่างๆในกระบวนการงบประมาณของ อปท. ได้แก่ นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ การเงิน และการงบประมาณผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงบประมาณ และผู้แทนจาก อปท.ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม เพื่อร่วมกันประเมินแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำคำของบประมาณในรูปแบบใหม่ของ อปท.
โดยโครงการอบรมหลักสูตรการบริหารงบประมาณท้องถิ่นระดับสูงของ อปท. ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารระดับสูง จัดอบรมระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มที่ 2 ผู้บริหารระดับกลาง จัดอบรมระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ถึง วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 และกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารระดับปฏิบัติการ จัดอบรมระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 โดยโครงการจัดหลักสูตรการบริหารงบประมาณท้องถิ่นระดับสูงของ อปท. จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ส่วนวิทยากรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย วิทยากรจากสำนักงบประมาณ ได้แก่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง(วบส.) รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2558) ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ กรรกมารจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2558-2565), รศ.ดร.วีระวัฒน์ ปันนิตามัย อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
จากแนวนโยบายการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2540 เป็นต้นมาล้วนแล้วแต่มุ่งหมายให้ อปท.พัฒนาและมีอิสระทั้งทางด้านการเมืองและการบริหาร โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการครอบคลุมทั้งนโยบายสาธารณะท้องถิ่น การบริหารงานบุคคลท้องถิ่นและด้านการบริหารการเงินการคลังในระดับท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการบริหารการเงินการคลังระดับท้องถิ่น นั้น พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 4 ได้กำหนดให้ อปท.เป็นหน่วยงานรับงบประมาณโดยตรงและต้องจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำงบประมาณของ อปท.(BBL)โดยสำนักงบประมาณเป็นผู้รวบรวม เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณประจำปี พ.ศ.2564 และ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณกำหนดให้องค์กรบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 76 แห่ง เทศบาลจำนวน 195 แห่ง และเทศบาลนคร จำนวน 30 แห่ง รวมทั้งสิ้น 301 แห่ง ดำเนินการจัดทำคำของบประมาณต่อสำนักงบประมาณโดยตรง ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลือ ได้แก่ เทศบาลตำบล จำนวน 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,300 แห่ง ต้องดำเนินการส่งคำของบประมาณให้กับสำนักงบประมาณในปี งบประมาณ 2566 เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตรงในปีงบประมาณ พ.ศ.2567