โรงเรียนทีโอเอวิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยยุวชนระดับโลกปี 2565 “World RoboCub 2022” ประเภท Super team จากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 45 ประเทศ
นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)หรือ ส.ส.ท. ได้ดำเนินการจัดงานการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติปี 2565 โดยมีโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศ ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 196 ทีม รวมถึงทีมหุ่นยนต์โรงเรียนทีโอเอวิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) เทศบาลเมืองมุกดาหารเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมหุ่นยนต์โรงเรียน ทีโอเอ เทศบาล 1 วัดคำสายทอง ชนะเลิศการแข่งขันระดับประเทศ ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) ระดับยุวชน ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลก “World RoboCub 2022” ครั้งที่ 25 ปี 2565 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100) กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 ทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer)หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) หุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล(RoboCup@Home)หุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial) โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขัน 45 ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย
ซึ่งได้มอบหมายให้นางปุณยนุช แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครู นำนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยยุวชนดังกล่าว ประกอบด้วย นายฐิติภัทร เชี่ยวชาญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 นายดิเรก ผุยคำสิงห์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นายอัครพล วังคะฮาต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายใต้การอำนวยการของ นางปุณยนุช แสนสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทีโอเอวิทยา และครูผู้ฝึกสอน ได้แก่ นายประยุทธ สุภาคาร นางวิยะดา สุภาคาร และนายศรีเพชร แพงศรี
นายประยุทธ สุภาคาร หัวหน้าทีมครูผู้ฝึกสอน กล่าวว่า ในการแข่งขันดังกล่าว ทีมไทยโดยทีมโรงเรียนทีโอเอวิทยา จับคู่กับทีมเยอรมัน ทำงานร่วมกันภายใต้ภาระกิจ เวลาและเงื่อนไงต่าง ๆ ที่กำหนด โดยการใช้หุ่นยนต์กู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง โดยการออกแบบหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าไปยังพื้นผิวที่ยากลำบาก เช่น พื้นลาดเอียง โค้ง งอ ทางขรุขระ หลากหลายระดับ เป็นต้น โดยใช้กล้อง เซ็นเซอร์รับรู้ต่าง ๆ และการประมวลผลทั้งหมดเกิดขึ้นบนตัวหุ่น การสื่อสารระหว่างหุ่น โดยที่ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์นอกสนามมาช่วยในการทำงาน ซึ่งปรากฏว่าทีมโรงเรียนทีโอเอวิทยา ร่วมกับทีมเยอรมันทำได้ดีที่สุดชนะการแข่งขันและได้แชมป์โลกปี 2565
ทั้งนี้ ความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากการ ส่งเสริมสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ผู้อำนวการโรงเรียน บริษัท INEX. ผู้ให้การสนับสนุนบอร์ดคอลโทรเลอร์และอุปกรณ์ สถาบันไทยเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น.และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งจะก้าวเดินและพัฒนาต่อไป เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนและจังหวัดมุกดาหาร