จากกรณี ยายวัย 89 ปี ถูกกรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งเรียกคืนเงินค่าเบี้ยผู้สูงอายุรวมดอกเบี้ยคืนกว่า 84,000 บาท หลังได้รับมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติ เพราะได้รับเงินบำนาญจากลูกชายซึ่งเป็นทหารและเสียชีวิตในหน้าที่แล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 24 มกราคม 2564 นายอุดม งามเมืองสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้โพสต์เฟซบุ๊กลงในกลุ่ม กฎหมายเรื่องใกล้ตัว ระบุว่า อบต.จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง (นานรวม 10 ปี เพราะจ่ายซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษกรณีลูกชายคุณยายซึ่งเป็นทหารเสียชีวิต) กรมบัญชีกลางและ อบต. จะเรียกเงินเบี้ยคนชราคืนจากคุณยายปัจจุบันอายุ 89 ปี โดยจะเรียกเงินคืนย้อนหลัง รวมเป็นเงิน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ได้หรือไม่ ความเห็น
- กรณีนี้เป็นกรณี“ลาภมิควรได้” ซึ่งหน่วยงานทางปกครอง คือ อบต. จะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องในทางแพ่ง (ไม่ใช่คดีปกครอง เที่ยบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 222/2560)
- หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ป.พ.พ. มาตรา 412 ดังนั้น หากคุณยายได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุไว้โดยสุจริต(หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่าคุณยายไม่ทราบข้อกฎหมาย/ปิดบังข้อเท็จจริงที่ตนใช้สิทธิซ้ำซ้อน) และหากคุณยายรับเงินไว้โดยสุจริต และได้นำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่จะถูกเรียกคืน คุณยายจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559)
- กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อต่อไป
ป.พ.พ.มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412