เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 เพจ เทศบาลนครยะลา Yalacity ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ของเทศบาลนครยะลา ต่อการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 28 ต่อเนื่องถึงวันที่ 29 มกราคม 2565 ลงนามโดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา
แถลงการณ์ดังกล่าวมีจำนวน 2 รูปแบบ คือ ฉบับที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นโดยตรง ไม่ใช่ในฐานะกลุ่ม หรือสมาคมใดๆ และเป็นครั้งแรกที่ท้องถิ่นแสดงจุดยืนในการเรียกร้องความสงบ ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ใจความในแถลงการณ์ระบุว่า เทศบาลนครยะลารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์วางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 28 ต่อเนื่องถึงวันที่ 29 มกราคม 2565 เนื่องจากตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้พี่น้องประชาชนดำเนินชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญ ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนอย่างแสนสาหัส เทศบาลนครยะลาพยายามอย่างยิ่งในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไข ฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ให้กลับมา เพื่อต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิมจนกระทั่งบัดนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลายลง ประชาชนเริ่มมีความหวังและออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
แต่เมื่อวันที่ 28 ต่อเนื่องถึงวันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีกลุ่มบุคคลหรือขบวนการที่ไม่อาจทราบได้ทำการวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลาจำนวนมากกว่า 20 จุด สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดังที่เทศบาลได้ตั้งใจไว้ให้กลับไปสู่ภาวะตั้งต้นและติดลบอีกครั้งหนึ่ง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการกระทำเพียงเพื่อตอบโต้กลุ่มบุคคล หรือด้วยเหตุผลใดๆ แต่ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนที่ทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นที่รักและต้องการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสิ้น
เทศบาลนครยะลาจึงขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำเช่นนี้ และหันมาพูดคุยหาทางออกอย่างสันติ โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะปัจจุบันการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่สังคมโลกไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป อีกทั้งไม่สามารถนำสันติสุขกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดของเราได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้ประชาชนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกันว่าเป็นที่รักจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน