จากกรณีที่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ อ.เมือง จ.แพร่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ช้าง หลวง” ระบุว่า มีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย สั่งให้ออกจากตำแหน่ง จากกรณีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดใน 2 เรื่อง ได้แก่ กรณีลดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้กับโรงแรม ลักษณะเอื้อให้เครือญาติ และสั่งให้ชะลอการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจอดยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแพร่โดยมิได้เสนอเป็นเทศบัญญัติ โดยมิชอบ แม้ว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 เรื่องก็ตาม ซึ่งนายโชคชัยมีความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ได้เปิดเผยกับ นิตยสารผู้นำท้องถิ่น เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวว่า เดิมทาง ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดตนอยู่ 2 เรื่อง 1. ชี้ขาดภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยกล่าวหาว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงเอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรมของเครือญาติ หลังป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องศาล ศาลมีคำพิพากษาว่า ตนปฏิบัติตามกฎระเบียบถูกต้องทุกประการ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้อง หรือเครือญาติ และมีคำสั่งยกฟ้อง
2. การชะลอการจัดเก็บค่าจอดยานยนต์ โดยสาเหตุที่สั่งให้ชะลอการจัดเก็บค่าที่จอด เนื่องจากไม่คุ้มค่า เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ที่ได้จากการจัดเก็บไม่เพียงพอกับค่าจ้างแรงงาน บางครั้งเก็บได้ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องจ่ายเงินเดือนเต็ม ปกติเทศบัญญัติการจัดเก็บค่าจอดยานยนต์ ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ 2 อย่างได้ ได้แก่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อหาได้ราย
นายโชคชัยกล่าวต่ออีกว่า เมื่อพิจารณาในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นว่าการมีช่องจอด แนวเส้นต่างๆ ทำให้การจอดรถเป็นไปอย่างเรียบร้อย ข้อนี้จึงให้ผ่าน ส่วนข้อของการหารายได้ ตนมองว่าไม่ผ่าน เพราะไม่คุ้มค่า ดังนั้น เมื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยผ่านแล้ว จึงน่าจะชะลอการจัดเก็บ โดยทดลองว่าหากไม่มีเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ไม่มีคนอำนวยความสะดวกตรงนี้ จะยังมีความเป็นระเบียบอยู่หรือไม่ จะเกิดความเสียหายหรือไม่
“ประกอบกับในแต่ละฝ่าย แต่ละกองต้องการคนมาช่วยงาน จึงได้ส่งคนที่ยกเลิกงานเก็บค่าที่จอดรถ กระจายไปยังฝ่ายต่างๆ แทนการรับคนใหม่ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น” นายกเทศมนตรีเมืองแพร่กล่าว
“ผมทำประโยชน์ให้กับเทศบาล 2 อย่าง คือ 1. ไม่ต้องทนจ่ายเงินเดือนที่ไม่คุ้มค่า 2.ไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม ศาลตัดสินว่าผมได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองแพร่โดยชอบแล้ว”
เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่นำเรื่องผ่านสภาฯ ก่อน นายโชคชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่นำเรื่องเข้าสภาเทศบาล เนื่องจากเป็นช่วงที่ทดลองว่าหากไม่มีเจ้าหน้าประจำจุดจัดเก็บ จะมีความวุ่นวายทางจราจรหรือไม่ หากมีความวุ่นวาย ก็ต้องกลับมาจัดเก็บอีกครั้ง ก็ต้องนำเรื่องมาเข้าสภาอีก อีกทั้ง การชะลอการจัดเก็บ ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายทางรายได้ให้กับเทศบาล ในทางตรงข้าม เทศบาลกลับไม่ต้องเสียเงินซ้ำซ้อน
เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิด จึงได้ส่งเรื่องไปยังอัยการ ส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อตัดสินความผิดทางอาญา ซึ่งศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องแล้วทั้ง 2 เรื่อง
อีกด้านหนึ่ง ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้ความผิดทางวินัย ขณะนั้น กระทรวงมหาดไทย ส่งเรื่องมายังจังหวัดแพร่เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ในฐานะหน่วยงานในพื้นที่
นายโชคชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนั้น จังหวัดวินิจฉัยในเรื่องชี้ขาดภาษี ว่าตนปฏิบัติตามระเบียบเป็นบางข้อ แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นต้องถอดถอน ส่วนในเรื่องของการชะลอการจัดเก็บค่าจอดยานยนต์ จังหวัดมีความเห็นมาหลายข้อ ส่วนหนึ่งระบุว่าตนก็ยังทำไม่ถูกในเรื่องของระเบียบ แทนที่จะนำเรื่องเข้าสภาให้ถูกต้องเสียก่อน
“จังหวัดมีความเห็นกลางๆ ไม่ถึงขั้นว่าเป็นความผิดร้ายแรง เพราะก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หลังจังหวัดวินิจฉัย เรื่องก็หายไป 2 ปี จนมาวันนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ออกจากราชการ โดยมิได้นำเรื่องราวทั้งหมดมาพิจารณาให้รอบด้าน” นายกเทศมนตรีเมืองแพร่กล่าวต่ออีกว่า “หากเป็นคำสั่งที่ออกมาก่อนศาลตัดสิน ผมจะไม่เถียงเลย เพราะถือว่าความเห็นของท่านเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เรายอมรับได้ แต่ทั้ง 2 เรื่องนี้ ได้ผ่านกระบวนการตัดสินของศาลแล้ว และศาลพิจารณาว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย ไม่ได้ลดภาษีเพื่อเอื้อประโยชน์ครอบครัว ด้านเรื่องชะลอการจัดเก็บค่าจอดยานยนต์ ศาลพิจารณาว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจบริหารของนายกเทศมนตรีที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เทศบาลได้รับความเสียหายและมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน ไม่ปรากฏหลักฐานการแสวงหาประโยชน์อื่นใด พยานหลักฐานไม่เพียงพอให้ศาลตัดสินลงโทษ”
“เรื่องนี้ผมไม่ได้โทษท่านรัฐมนตรีแต่อย่างใด อาจจะเกิดขึ้นเพราะทีมงานไม่ได้ตรวจสอบให้รอบด้าน ว่ากรณีของผม มีคำพิพากษา สามารถมาหักล้างข้อกล่าวหาทางวินัยได้ หลังจากนี้จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอไต่สวนฉุกเฉิน คุ้มครองไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะผมไม่ได้กระทำผิด และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายโชคชัยกล่าว
สำหรับ 2 คดีนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ในข้อกล่าวหา สั่งให้ชะลอการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมการจอดรถยนต์ ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ โดยมิได้เสนอเป็นเทศบัญญัติ โดยมิชอบ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า นายโชคชัย พนมขวัญ มีมูลเป็นการกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบ ด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 – มีมูลเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามระเบียบเทศบาลเมืองแพร่ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการ การเมืองท้องถิ่นฝ่ายบริหาร เทศบาล เมืองแพร่ พ.ศ.2555 – มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
ผ่านไปเพียง 1 วัน ในวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกัน ป.ป.ช.ได้มีมติในเรื่องที่ 2 ชี้มูลว่านายโชคชัย พนมขวัญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ กับพวก ลดภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้ผู้รับการประเมินภาษีที่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 มาตรา 154 และมาตรา 157
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่านายโชคชัย ใช้อำนาจในการลดภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนในครอบครัว ที่เป็นเจ้าของโรงแรมในพื้นที่เทศบาลเมืองแพร่
เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ นายโชคชัย ได้ดำเนินการตามระเบียบ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง อีกทั้งมีโรงแรมเกือบ 10 แห่งที่ดำเนินการขอส่วนลดภาษีดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะโรงแรมในเครือญาติของตน
ผลจากมติ ป.ป.ช.ดังกล่าว เป็นเหตุให้ในปี 2558 ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจบริหาร ได้ออกคำสั่ง 19/2558 เด้งข้าราชการประจำและท้องถิ่นรวม 71 ราย หนึ่งในนั้นมีรายชื่อของนายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ที่ถูกสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่รวมอยู่ด้วย
ต่อมาเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลในปี 2562 และ 2563 ปรากฏว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 ข้อกล่าวหา
นำไปสู่การกลับเข้ามาทำงานในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองแพร่อีกครั้ง หลัง คสช.ยกเลิกคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อพ้นมลทิน นายโชคชัย จึงทำหน้าที่จวบจนหมดวาระในปี 2564 และได้รับชัยชนะในการเลือกนายกเทศมนตรีตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 เข้าดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 4 ติดต่อกัน
เรื่องราวเงียบหายไป 2 ปี หลังศาลพิพากษายกฟ้อง ทว่าราวกลางเดือนมกราคม 2565 กระทรวงมหาดไทย กลับมีคำสั่งให้นายโชคชัยออกจากตำแหน่ง จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า คำสั่งเชคบิลผู้บริหารท้องถิ่น ที่ศาลตัดสินแล้วว่าไม่มีความผิดทางอาญา จะกระทำได้อย่างชอบด้วยกฎหมายหรือไม่