close

หน้าแรก

menu
search

“ทน.-ทม.-กทม.-พัทยา” วืดเงินชดเชยภาษีที่ดิน ครม.โยนกลับไปปรึกษากันใหม่

schedule
share

แชร์

          รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระทบหนัก หลังเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมหยุดชะงักลง รัฐบาลตัดสินใจประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงในอัตราร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ภายใต้การประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563

 

          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือชื่อเต็มๆ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้แทนการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล อบต. เมืองพัทยา หรือ กทม. นับว่าเป็นรายได้หลักของท้องถิ่น ที่จะผันนำกลับมาสร้างประโยชน์และสร้างความเจริญในพื้นที่

 

          แต่เมื่อรายได้ที่เคยเก็บได้ 100 บาท ต้องถูกลดไปถึง 90 บาท เหลือให้เก็บได้เพียง 10 บาท ติดต่อกันนานถึง 2 ปี แน่นอนว่าสถานะการคลังของท้องถิ่นย่อมสั่นคลอน และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยเงินส่วนที่หายไปเหล่านี้ เพราะรัฐบาลเองก็ออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินจำนวนถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว

 

          ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า ในปี 2563 อปท.ขนาดใหญ่ 226 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บจริง 1,990.14 ล้านบาท ลดลงจากรายได้เดิมจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ปี 2562 ที่เคยจัดเก็บได้ 24,020.25 ล้านบาท โดยมีรายได้ลดลง 22,030.11 ล้านบาท

          เทศบาลเมือง 194 แห่ง มีรายได้ลดลง 3,943.47 ล้านบาท เทศบาลนคร 30 แห่ง รายได้ลดลง 3,697.87 ล้านบาท กทม. รายได้ลดลง 13,969.61 ล้านบาท ขณะที่เมืองพัทยารายได้ลดลง 419.16 ล้านบาท

 

          ในส่วนของท้องถิ่นขนาดเล็ก ทั้งเทศบาลตำบลและ อบต.อีกราว 7,500 แห่ง เคยจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 ได้ 12,506.78 ล้านบาท แต่เก็บจริงได้ 1,349.38 ล้านบาท รายได้ลดลง 11,157.40 ล้านบาท

 

          คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ก.ถ. ซึ่งมีหน้าที่ เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร การงบประมาณ และการรักษาวินัยทางการเงิน การคลังของ อปท. รวมถึงพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ตามความจำเป็นนั้น จึงมีมติขอจัดสรรเงินชดเชยให้กับ อปท.ทั่วประเทศ

 

          จากคาดการณ์ในปี 2563-2565 ที่เดิมคาดว่า อปท.จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1.15 แสนล้านบาท แต่เก็บได้จริงเพียง 6.2 หมื่นล้านบาท กรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยรายได้ส่วนนี้ราว 5.3 หมื่นล้านบาท โดยมีวงเงินที่ต้องชดเชยในปี 2564 ทั้งสิ้น  32,585 ล้านบาท

 

          ที่ผลักดันสำเร็จและออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว คือเงินชดเชยของเทศบาลตำบล และอบต. โดยเป็นงบที่ให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหน้าที่จัดสรรต่อไปยังเทศบาลตำบลและอบต.ที่มีรายได้ลดลง เป็นเงินทั้งสิ้น 10,067,590,000 บาท

 

          ในส่วนของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง พัทยา และกทม. ที่ยังต้องมีการชดเชยให้อีกราว 22,030 ล้านบาท นั้น ก.ก.ถ.มีมติพิจารณาและยื่นเรื่องให้ ครม. พิจารณาไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย. 64 ผ่านไปหลายเดือน กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

          ล่าสุดสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0507/32214 ลงวันที่ 11 ต.ค. 64 ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เรื่องการขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมืองนั้น ตามที่ได้เสนอความเห็นไปเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ส่งเรื่องกลับมายัง ก.ก.ถ. ให้ไปพิจารณาใหม่ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ให้มีความ “เหมาะสม” ในส่วนของวงเงินที่ อปท.ควรจะได้รับ รวมทั้ง “แหล่งที่มา” ของงบประมาณ ก่อนจะเสนอ ครม.อีกครั้ง

 

          คำตอบเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเพิกเฉยที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการชดเชยเงินให้กับท้องถิ่น ให้ทันในปีงบประมาณ 2565 หรืออาจจะสั่งให้วนไปปรึกษากันใหม่จนหมดปีงบประมาณ 2566 ด้วยก็อาจจะเป็นได้

 

          ด้าน ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ  ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามผลักดันเพื่อให้ท้องถิ่นได้รับเงินชดเชยภาษีที่ดินฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ถึงพี่น้องชาว ทน. ทม. กทม. และเมืองพัทยา …. ครม. ไม่ยอมจัดสรรเงินชดเชย ภ.ด.ส. ปี 2563 โดยอ้างให้เวียนถาม ทั้งที่ก่อนจะออกเป็นมติ ก.ก.ถ. เพื่อเสนอต่อ ครม. ตั้งแต่เดือนมิถุนาย 64 ก็ได้เวียนถามมาหมดแล้ว ไม่รู้ว่าบอกตรง ๆ ว่าไม่ให้จะตายหรือยังไง….กลัวอะไรหรือ”

 

          โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้มาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ “เคยถามมาแล้ว ก็ถามใหม่ได้ ถามมันไปเรื่อยๆ 555” “คิดว่าเงินส่วนใหญ่ใช้ไปกับประชานิยมหมดละ…….”  “ขนาดออกเป็นมติ ก.ก.ถ. แล้วนะเนี่ย” “เขาไม่สนท้องถิ่นนานแล้วครับ”

 

          ขณะที่นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่น ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวเช่นกัน พร้อมระบุข้อความ ….ชัดเจนนะครับว่า รัฐบาลประยุทธ์ไม่เอาเรื่องกระจายอำนาจ..เป็นคนน่ารังเกียจสำหรับท้องถิ่น

          ….กรณีนี้ อปท.ไม่ควรอยู่นิ่งจำยอมต่อชะตากรรม..ควรจะออกมาคัดค้านเพื่อปกป้องประโยชน์ให้ประชาชนในท้องถิ่นของท่านบ้าง..โดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น..ท่านจะเอางบประมาณที่ไหนมาจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่นของท่าน

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]