โหมโรงเลือกตั้งท้องถิ่นเฟส 3 เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ดำเนินการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นรูปแบบถัดไป ตามที่กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ
โดยคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปลายเดือน พ.ย. 64 ซึ่งทิ้งระยะห่างจากการเลือกตั้งในระดับเทศบาลนานถึง 8 เดือน จากเดิมที่กำหนดระยะห่างรูปแบบละ 3 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ
เมื่อ ครม.มีมติออกมาชัดเจนแล้ว พรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มทางการเมืองจึงเริ่มขยับตัว ที่มีความเคลื่อนไหวชัดมากที่สุด คือ กลุ่มการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองยังหวั่นกฎหมายห้าม ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงออกมาให้ความเห็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้
กลุ่มแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ คือ คณะก้าวหน้า ประกาศรับสมัครตัวแทนชิงนายก อบต. ทั่วประเทศ ในเพจเฟซบุ๊ก “คณะก้าวหน้า” ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา ให้เวลาสมัคร 7 วัน ระบุว่า “เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความฝัน มีความหวัง อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองดีกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าคุณพร้อมที่จะทำ ‘เต็มที่’ เพื่อบ้านเกิด ถ้าคุณเชื่อว่า ‘ท้องถิ่น’ ดีกว่านี้ได้ นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้มาลุยไปด้วยกัน”
พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกตั้งนายก อบต.มาเกือบ 10 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เกือบ 10 ปีที่หายไป เกือบ 10 ปีที่ปัญหาของพี่น้องประชาชนไร้การเหลียวแล ถึงเวลากลับคืนสู่ร่องสู่รอยของการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนศึก กทม.และเมืองพัทยา ยังขอพักไว้ก่อน รอความชัดเจนจาก กกต.
ความเคลื่อนไหวของพรรคหลักฝั่งรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” หัวเรือใหญ่ “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันพรรคพร้อมส่งคนลงชิงเลือกตั้งท้องถิ่น แต่สำหรับ อบต.นั้นจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะส่งครบทั้งประเทศหรือไม่ ขณะที่มือกฎหมาย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” บอกแบบแทงกั๊กว่า พรรคจะไม่ส่งผู้สมัครลงสนามท้องถิ่น เพราะติดข้อกำหนดกฎหมายที่ห้าม ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่หากสมาชิกพรรคมีความต้องการลงสมัครเองก็สามารถทำได้
สำหรับการเลือกตั้งสนาม กทม. นายไพบูลย์ ปฏิเสธการมาของ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ที่เปิดตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ แต่แอบหยอดว่า “หากมองว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่า กทม. ส่วนตัวมองว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีความเหมาะสมที่สุด”
ด้านการส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภากทม. หรือ ส.ก. นั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า การันตีด้วยตัวเองว่า พรรคมีคนพร้อมที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งแล้วทั้ง 50 เขต ไม่ว่าจะเป็นในนามพรรค ในนามอิสระ หรือกลุ่ม รอเคาะรายชื่อจากการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น
ทว่าข่าวล่ามาแรง ล่าสุด (9 ก.ย.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สะท้อนความชัดเจนของกระแสข่าวความขัดแย้งกันระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้บทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส ที่มีในพรรคพลังประชารัฐ อาจถูกลดทอนความสำคัญลง รวมไปถึงบทบาทการจัดการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่ออย่างยิ่ง
ขณะที่พรรคเก่าแก่ “ประชาธิปัตย์” ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในสนาม อบต. แต่มีการพูดถึงตัวแทนพรรค ชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. โดยหัวหน้าพรรค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” แย้มออกมาว่ามีการวางตัวไว้แล้ว เป็นนักบริหาร คนรุ่นใหม่ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย ซึ่งมั่นใจหากคน กทม.ได้ยินชื่อจะยอมรับได้ ไม่ใช่ได้ยินชื่อแล้วจะ “เขี่ยทิ้ง”
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ ยังคงสงวนท่าที คงจะรอความชัดเจนอีกครั้ง ในการกำหนดวันเวลาเลือกตั้ง จึงจะเริ่มตีกลองศึกพร้อมลงสนาม โดยเฉพาะสนามท้องถิ่นขนาดเล็ก “อบต.” ที่มีจำนวนมากกว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศ