วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “บรรณ แก้วฉ่ำ” แสดงความคิดเห็นกรณี อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยกล่าวว่า การตัดสินใจทำโครงการ/เบิกจ่ายงบประมาณแก้ปัญหาโควิดในพื้นที่ ขอถามผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่า 2 เรื่องนี้ ท่านกลัวอะไรมากกว่ากัน 1. กลัวหน่วยตรวจสอบทักท้วง 2. กลัวประชาชนของท่านติดเชื้อเป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ
…ผมเอง กลัวแต่ข้อ 2. และไม่เคยให้ความสำคัญอย่างใดๆ กับข้อ 1
…แต่ ทั่วประเทศนี้ อปท.เกือบ 8 พันแห่ง หากมีจำนวนหนึ่ง กลัวข้อ 1 มากกว่าข้อ 2 จนเกียร์ว่าง ผมคิดว่า หน่วยตรวจสอบ กับกระทรวงมหาดไทย ควรจะต้องกลับไปทบทวน ดังนี้
…1. มหาดไทย กลับไปทบทวน ระเบียบ แนวทางปฏิบัติที่ขาดความชัดเจน จนทำให้ อปท.ไม่กล้าเดินหน้า หรือตัดสินใจอนุมัติโครงการต่างๆ
…รวมทั้งระเบียบหรือหนังสือสั่งการ ที่มีเจตนาชั่วซ่อนเร้น เช่น เพื่อจะเพิ่มอำนาจ ผู้ว่า/นายอำเภอในการ “บังคับบัญชา” หรือ “มอบหมายภารกิจ” แก่ อปท.เหมือน อปท.เป็นส่วนราชการในสังกัด ตลอดทั้งการให้ ผู้ว่า/นายอำเภอ ล้วงลูกเข้ามามีดุลยพินิจใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. แทนนายก อปท.
…ที่สำคัญ มหาดไทย ควรให้ อปท.ตราข้อบัญญัติขึ้นใช้เองแทนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ในแบบเดียวกับ กทม.
…2. หน่วยตรวจสอบ (เช่น สตง.) ควรกลับไปทบทวน “ดุลยภาพ” ของการ “ทำหน้าที่ตรวจสอบกับความเป็นอิสระของ อปท.”
…หากการตรวจสอบของตน ทำให้เกิดเกียร์ว่าง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน..ก็ควรปรับปรุง
…เพราะหน่วยงานรัฐทุกหน่วย (รวมทั้งหน่วยตรวจสอบ) ล้วนแต่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ประชาชน….หากการมีอยู่ของหน่วยตรวจสอบแล้วทำให้ ประชาชนไม่ได้รับบริการสาธารณะจาก อปท.การมีอยู่ของหน่วยตรวจสอบก็เป็นการไม่จำเป็นและไม่ประหยัดต่อเงินแผ่นดิน
…แต่อย่างไรก็ตาม..อาการกลัวข้อ 1 มากกว่าข้อ 2 ผู้ที่สมควรถูกติเตียนไม่น้อยกว่า มหาดไทย และหน่วยตรวจสอบ ก็คือ ตัวผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ อปท.ที่เป็นอย่างนั้น