นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ สนามข่าว 101 สถานีวิทยุ FM 101 กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อฉีดให้กับประชาชน ว่า ในเรื่องของการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง สามารถจัดซื้อได้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มี 2 ประเด็น ที่ตนมองว่าเป็นข้อห้าม 1. ในระยะแรกขอให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดหาซื้อก่อน ในช่วงที่วัคซีนยังคงขาดแคลน 2. ไม่สามารถจัดซื้อจากผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง
ในแง่ของอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ในขณะที่หน่วยงานอย่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะปฏิบัติตามหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาข้อเท็จจริง
ปัญหาในส่วนที่ 1 นั้น วันนี้ต้องยอมรับว่า ปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ขาดแคลนวัคซีนจริง ดังนั้นเมื่อมีช่องทางที่จะจัดหาได้ ท้องถิ่นจึงพยายามที่จะแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐบาลกลาง
ความจริงแล้วหน้าที่การจัดหาวัคซีนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ไม่ได้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นเข้ามาเพื่อช่วยดำเนินการให้เกิดความคล่องตัว ความทั่วถึงกับประชาชนมากขึ้น เพราะท้องถิ่นเองก็ไม่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งตู้แช่วัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการออกวัคซีนพาสปอร์ต ล้วนก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่ต้องจัดการ
ถึงแม้ว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนมาได้ ก็ต้องส่งไปรวมในส่วนกลางของจังหวัด แล้วจึงนำไปบริหารจัดการโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัด หากเป็นระบบนี้ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สามารถนำส่วนที่มี ไปชดเชยส่วนที่ขาดได้ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดด้วย
ส่วนปัญหาที่ 2 ที่ระบุว่าท้องถิ่นไม่สามารถจัดซื้อกับผู้ผลิตได้โดยตรงนั้น สิ่งที่ท้องถิ่นทำคือ การซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งซื้อมาแบบจีทูจี หรือ รัฐต่อรัฐ ดังนั้นเราตัดปัญหาด้านความไม่โปร่งใสไปได้เลย อีกทั้งราชวิทยาลัยฯ เป็นสถาบันทางวิชาการที่ทำเรื่องไบโอเทคโนโลยีมาโดยตลอด จึงสร้างความมั่นใจได้ว่า ราชวิทยาลัยฯ จะเลือกวัคซีนที่ให้ความมั่นใจกับผู้ซื้อได้อย่างแน่นอน
รัฐบาลเองก็มีทางออก สามารถให้เราไปซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมก็ได้ ซึ่งท้องถิ่นเองก็พร้อมที่จะซื้อวัคซีนทางเลือกผ่านองค์การเภสัชกรรม ตรงนี้เองคือทางออกของข้อ 2 ที่ว่า ท้องถิ่นไม่สามารถซื้อโดยตรงผ่านผู้ผลิตได้เลย
ตนมองว่าหลักการจัดการโควิด-19 มีอยู่ 4 ประเด็น คือ 1. มาตรการทั่วไป การสวมใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม 2. การแยกคนมีเชื้อออกจากคนไม่มีเชื้อให้เร็วที่สุด เพื่อแยกตัวออกไปรักษา ลดการขยายวงสัมผัสโรค 3. การบริหารทางสาธารณสุข เช่น การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเมื่อพบว่าตนเองติดเชื้อ การสร้างโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ 4. วัคซีน
ในส่วนของโรงพยาบาล ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการได้ แต่ส่วนที่ท้องถิ่นสามารถช่วยได้ คือ ในเรื่องการตรวจคัดกรองหาเชื้อ โดย อสม. ร่วมกับสาธารณสุข และเรื่องของวัคซีนที่จะนำมาป้องกันโรค หากเราทำได้สมบูรณ์ จำนวนของผู้ติดเชื้อก็จะลดลง
สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำนั้น ตามหลักการฉีดวัคซีนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางอยู่แล้ว ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ซึ่งท้องถิ่นเองก็จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้เร็วและทั่วถึงมากขึ้น ดังนั้นหากสามารถฉีดได้เกิน 70 เปอร์เซ็นก็จะยิ่งดี อีกทั้ง อปท.มี 2 ระดับ ในระดับล่าง คือ เทศบาล และ อบต. อีกระดับหนึ่งคือ อบจ.ที่จะดูภาพรวมทั้งหมดของจังหวัด ซึ่งก็มีข่าวว่า อบจ.ในหลายจังหวัดก็ต้องการซื้อในปริมาณนับล้านโดส ส่วนนี้เองก็จะช่วยเติมเต็มความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ควบคู่กับรัฐบาลกลาง การฉีดวัคซีนก็จะสมบูรณ์มากขึ้น
ส่วนของงบประมาณนั้น ตนมองว่า เทศบาลขนาดใหญ่มีกำลังมากพอ ส่วนเทศบาลขนาดเล็กสามารถซื้อได้ตามกำลัง อีกทั้งแต่ละเทศบาลจะมีเงินสะสมและเงินสำรอง ที่รอการปลดล็อกจากมหาดไทยให้ใช้เงินส่วนนี้ได้
ทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต่างก็อยากแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด จุดมุ่งหมายเหมือนกัน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคลดน้อยลงที่สุด ในสถานการณ์เร่งด่วนแบบนี้
อย่างเช่น กรณีเมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งออกมา ระบุว่า ไม่ว่าจะหน่วยงานไหนก็ตาม หากช่วยแก้วิกฤติปัญหานี้ บนพื้นฐานของความสุจริต โปร่งใส สตง.ก็ยินดีสนับสนุน
เทศบาลขนาดใหญ่เองก็มีการรวบรวมความต้องการของวัคซีน หากมีโอกาส ตนก็อยากจะขอโควตาวัคซีน 10 ล้านโดส เพื่อช่วยการะจายในเฟสแรกให้กับเทศบาลต่างๆ
วันนี้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา ไวรัสมีการแปรสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา จึงต้องหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดช่องว่างของเวลาสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อสายพันธุ์ใหม่ๆ การจัดการโควิด-19 ในระลอกแรก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจลงพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสถานการณ์ ทำให้เกิดความสำเร็จในระลอกแรก
สำหรับข้อกังวลของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการจัดการหลังฉัดวัคซีน เช่น การติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด ตรงนี้ การทำงานของท้องถิ่นจะร่วมมือกับส่วนของจังหวัดอยู่แล้ว เพราะท้องถิ่นไม่สามารถจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนให้คนเป็นหมื่นคนได้ เป็นเรื่องของการจัดการเชิงพื้นที่ที่ตนมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาตามที่กังวล
การแก้ปัญหาวิกฤติใหญ่ครั้งนี้ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภูมิภาค ท้องถิ่น และประชาชน ตนก็หวังว่าทุกคนต้องช่วยกัน แบ่งเบากัน ตรงไหนที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกันทำ
(ฟังสัมภาษณ์เต็มที่นี่)