close

หน้าแรก

menu
search

ท้องถิ่นขยับ ขานรับวัคซีนทางเลือก

schedule
share

แชร์

          ตั้งแต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศนำเข้าวัคซีนทางเลือกยี่ห้อ “ซิโนฟาร์ม” ทำให้เกิดความตื่นตัวทั้งประเทศ จากเดิมที่มีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดฟรีให้กับประชาชน ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ และปริมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจไม่เพียงพอต่อการเร่งกระจายฉีดให้กับประชาชน ทำให้การเข้ามาของวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับการรับรองโดย WHO และ อย.แล้ว ถูกจับตามองทั้งภาคประชาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงหน่วยงานราชการอย่างท้องถิ่นเองด้วย

 

          เวลาล่วงเลยมา 5 เดือน นับตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง เคยเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาลเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ว่ามีความพร้อมที่จะใช้งบส่วนตัว อปท. ร่วมจัดซื้อวัคซีนเพื่อเป็นตัวช่วยกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง หลาย อปท. ออกมาขานรับแผนงานนี้ และจัดเตรียมงบไว้พร้อมสรรพ แต่รัฐบาลออกมายืนยันว่า มีความพร้อมในด้านงบประมาณ สามารถจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนฟรีและทั่วถึง ได้ด้วยตนเอง เป็นการปฏิเสธความช่วยเหลือจากท้องถิ่นกลายๆ

 

          คำปฏิเสธชัดเจนขึ้น เมื่ออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 254 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 แจ้งไปยัง อปท. ทั่วประเทศ แจ้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ระยะแรกกำหนดให้ภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และการจายวัคซีนได้ เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จึงไม่สามารถให้เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตได้โดยตรง

 

          เกิดคำถามว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว ขัดแย้งกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ อปท. รวมถึงขัดกับกฎหมายด้านการกระจายอำนาจหรือไม่?

 

          3 สมาคมท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือประเด็นการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงความชอบธรรมของคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะดังกล่าว

 

ท้องถิ่นขยับ ขานรับวัคซีนทางเลือก

 

          ทว่าเวลาผ่านไปนานไป 5 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ อปท.เสนอความช่วยเหลือด้านการกระจายวัคซีน ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีจำนวนไม่ถึง 3 เปอเซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ที่ยังพุ่งขึ้นไม่หยุด

 

          เมื่อ “ซิโนฟาร์ม” เป็นวัคซีนทางเลือก ที่สามารถจัดซื้อได้เอง หลายฝ่ายจึงเรียกร้อง ให้รัฐบาลปลดล็อกอำนาจท้องถิ่น สามารถจัดซื้อวัคซีน และให้บริการฉีดประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดตัวเลขการแพร่ระบาดให้น้อยลง และสร้างภูมิคุมกันหมู่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว

 

          นายชัยชนะ เดชเดโช  ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย ปลดล็อกคำสั่งที่ยืนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ อปท.ในการป้องกันโรคระบาด ตามหลักการกระจายอำนาจ

 

          นายชัยชนะ ขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว หากติดปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณ เชื่อว่าขณะนี้งบประมาณของอปท.ต่างจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด – 19 เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการอนุมัติงบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน แต่เนื่องจาก ยังมีข้อถกเถียงถึงการจัดซื้อจัดหาระหว่าง อปท.และบริษัทผู้ผลิตว่า มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลาใด ซึ่งตนได้เคยเสนอไปแล้วว่า ให้มีคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยให้หมอที่ทำงานในท้องถิ่นนั้นๆ เข้ามาตรวจสอบคุณภาพวัคซีนถือเป็นข้อยืนยันว่า ท้องถิ่นมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

 

          ด้าน นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เป็นผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดซื้อวัคซีน เนื่องจากเทศบาลนครนนทบุรีเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ในช่วงนี้ได้รับวัคซีนมาเพียง 1,000 โดส ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อ เฉพาะในจุดเสี่ยงตลาด ก็มีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำว่า 500 คนแล้ว สำหรับความพร้อมด้านงบประมาณ เทศบาลนครนนทบุรี มีเงินสะสมกว่า 4,000 ล้านบาท เพียงพอในการจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชน 1.5 แสนคนในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าใช้งบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ สภาได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าสั่งซื้อวัคซีนไว้ 200,000 โดส

 

          ขณะที่ อปท. ขนาดใหญ่หลายแห่ง เริ่มออกมาแสดงความพร้อมให้เห็นในสื่อโซเชียล ต้องการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยใช้งบประมาณของ อปท. เอง เพื่อให้บริการฉีดฟรีกับประชาชนในพื้นที่ อาทิ อบจ.ปทุมธานี 1,000,000 โดส , อบจ.นครศรีธรรมราช 100,000 โดส , อบจ.ตรัง 80,000 โดส และที่ยังไม่ระบุจำนวน เช่น อบจ.พระนครศรีอยุธยา อบจ.นครศรีธรรมราช เทศบาลนครปากเกร็ด และกลุ่มสันนิบาตเทศบาลอุตรดิตถ์

 

          การแสดงออกของ อปท. ที่เกิดขึ้น ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก หลายคนต้องการฉีดวัคซีน แต่ไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง แอปพลิเคชันหมอพร้อมของรัฐบาลถูกระงับไม่ให้ใช้งาน ไร้หนทางเข้าถึงวัคซีน การเข้ามาของท้องถิ่น จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ตนเองได้เข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วมากขึ้น ท่ามกลางการรอคอยวัคซีนฟรีจากรัฐบาล ที่ยังเลือนลางเหลือเกิน

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]