ราชกิจจาประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจอดรถ-ค่าเคลื่อนย้าย-ค่าดูแลรถในเขต อปท. และกฎกระทรวงการมอบให้เอกชนเก็บค่าจอดรถแทน อปท.
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยกฎกระทรวงเกี่ยวกับการบริหารงานจัดเก็บค่าทำเนียมจอดรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับแรก กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจอดรถในที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ ค่าเคลื่อนย้ายในกรณีมีการเคลื่อนย้าย และค่าดูแลรักษารถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) มาตรา 9 วรรคสาม และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง พ.ศ. 2535 ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบ การจอดยานยนตร์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาล พ.ศ. 2503 ข้อ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจอดรถในที่จอดรถได้ ไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
- รถจักรยานยนต์ 20 บาท/ชม.
- รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ 40 บาท/ชม.
- รถยนต์ขนาด 6 ล้อ 80 บาท/ชม.
- รถยนต์ขนาดตั้งแต่ 8 ล้อขึ้นไป 120 บาท/ชม.
- ยานพาหนะทางบกประเภทอื่นที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น เก็บได้ไม่เกินอัตราประเภท 1-4 โดยคำนึงถึงจำนวนล้อของยานพาหนะนั้น
ข้อ 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับ ไม่ให้เคลื่อนย้ายรถได้ไม่เกินอัตราคันละ 500 บาท
ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถและได้รับชำระค่าเคลื่อนย้ายตามข้อ 5 แล้ว จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งอีกมิได้
ข้อ 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายในกรณี มีการเคลื่อนย้ายได้ไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
- รถจักรยานยนต์ 500 บาท
- รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ 1,500 บาท
- รถยนต์ขนาด 6 ล้อ 3,000 บาท
- รถยนต์ขนาดตั้งแต่ 8 ล้อขึ้นไป 5,000 บาท
- ยานพาหนะทางบกประเภทอื่นที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น เก็บได้ไม่เกินอัตราประเภท 1-4 โดยคำนึงถึงจำนวนล้อของยานพาหนะนั้น
ฉบับที่ 2 กฎกระทรวง การมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถ แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ จัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม จอดรถแทนได้เฉพาะกรณีที่การมอบให้เอกชนทำหน้าที่ดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนมากกว่าดำเนินการเอง
ข้อ 3 การมอบตามข้อ 2 ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดโดยความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการและอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ขอบเขตหรือพื้นที่ที่จะมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทน (2) ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติสามารถเข้ายื่นข้อเสนอได้อย่างกว้างขวาง เปิดเผย และกำหนดกระบวนการในการคัดเลือกให้ชัดเจน (3) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอซึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการกีดกัน การแข่งขันโดยเสรี (4) ประโยชน์หรือผลตอบแทนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสงค์จะได้รับหรือที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะมอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (5) รายละเอียดของวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ยื่นข้อเสนอประสงค์จะดำเนินการ (6) ระยะเวลาการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทน ในกรณีที่ประสงค์จะให้ระยะเวลาขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บและการลงทุน ต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
ข้อ 4 ในการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำเป็นสัญญาซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการวางหลักประกันในการปฏิบัติการตามสัญญา เหตุแห่งการเลิกสัญญา เบี้ยปรับ และสาระสำคัญอื่นตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกันกำหนด
ข้อ 5 ก่อนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนด อัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 6 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 3 รวมทั้ง เปิดเผยสัญญาตามข้อ 4 ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น