เทศบาลนครปักกิ่ง ทุ่ม100 ล้านหยวนหนุน “ร้านหนังสือท้องถิ่น” ส่งเสริมคนรักการอ่าน เป็นข้อมูลที่เทศบาลในประเทศไทย ควรศึกษา เป็นแบบอย่างในเรื่องของการส่งเสริมการรักการอ่านในยุคที่หนังสือกำลังจะโลกออนไลน์ให้หายไปจากโลก โดย รัฐบาลเทศบาลนครปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ประกาศการจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านหยวน (ราว 500 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาร้านหนังสือท้องถิ่นตลอดปี 2019
นายหวัง เย่เฟย หัวหน้าสำนักบริหารสื่อมวลชนและสื่อสิ่งพิมพ์ของเมือง กล่าวว่าร้านหนังสือทั้งหมด 151 ร้านในกรุงปักกิ่งได้รับเงินกองทุนพิเศษ 50 ล้านหยวน (ราว 250 ล้านบาท) ในปี 2018 รายงานเสริมว่าจำนวนร้านหนังสือในกรุงปักกิ่งจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 200 ร้านภายในปีใหม่นี้ ซึ่งเป็นไปตามความพยายามของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนรักการอ่าน รัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่งได้ริเริ่มการดำเนินแนวทางนำร่องเพื่อการพัฒนาร้านหนังสือตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าปักกิ่งมีร้านหนังสือเปิดใหม่ 126 ร้านในปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้นกองทุนพิเศษจากรัฐบาลท้องถิ่นยังช่วยให้มีการจัดกิจกรรมด้านการอ่านและวัฒนธรรมอื่นๆ ตามร้านหนังสือและห้องสมุดทั่วกรุงปักกิ่งเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งนี้ ในประเทศจีน การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในประเทศจีนที่มีหลายแง่มุมน่าสนใจ และไม่ได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง ผลการสำรวจการอ่านของประชาชนทั่วประเทศครั้งที่ 11 พบว่าชาวจีนอ่านหนังสือราวปีละ 7 เล่ม หรือ 50 นาทีต่อวัน ที่อ่านนี่คืออ่านหนังสือที่ทั้งเป็นเล่มและเป็นอีบุ๊กจริงๆ ไม่ใช่อ่านไลน์ ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก และเมื่อแยกลักษณะการอ่านจะเห็นได้ชัดว่าปริมาณการอ่านหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์คือ 4.77 เล่มต่อปี และอัตราการอ่านหนังสือผ่านสื่อดิจิตอลคือ 2.48 เล่มต่อปี ชาวจีนกว่า 75 เมืองอ่านหนังสือมากถึง 8.8 พันล้านเล่ม โดยหนอนหนังสือ 1 ใน 3 นิยมอ่านในรูปแบบของอีบุ๊ก ที่เหลือจะเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อมาอ่าน โดยมูลค่าตลาดหนังสือในจีนในปีที่แล้วมีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านหยวน หรือราว 336,000 ล้านบาทต่อปี
ความพยายามปลูกฝังการอ่านให้เป็นแนวทางของคนรุ่นใหม่ในจีนค่อนข้างมีอนาคตที่สดใส ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอ่านเป็นวัฒนธรรมของจีนอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งที่ครั้งหนึ่งจีนเคยเป็นประเทศที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จากข้อจำกัดต่างๆ ของรัฐบาลที่ส่งผลต่อนักเขียน
4 มกราคม 2562