การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ 2556 จะจัดสัมมนาในวันที่ 8 ม.ค.2562 ที่ จ.ภูเก็ต และวันที่ 11 ม.ค.ที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว รฟม.ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนในส่วนของการเวนคืนที่ดินในแนวเส้นทางบริเวณสถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง จุดจอดแล้วจร และในตำแหน่งที่จัดให้เป็นสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยขับเคลื่อนรถ ส่วนเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โดยเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้รับผลประโยชน์จากค่าโดยสารเป็นการตอบแทนการลงทุนและแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ ตลอดระยะเวลาสัญญา 30 ปี
โครงการดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัด
จากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่ารูปแบบที่เหมาะสมของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาชนิด Tram มีความกว้างมาตรฐาน 2.4 เมตร หรือ 2.65 เมตร ความยาว 30-40 เมตร ระบบล้อสามารถเป็นทั้งระบบล้อเหล็กและล้อยาง มีระบบจ่ายไฟฟ้าอยู่เหนือศีรษะ และขบวนรถเป็นแบบพื้นต่ำ ใช้เงินลงทุน 39,406 ล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง มี 24 สถานี ยกเว้นสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อยู่บริเวณ อ.ถลาง จุดเริ่มอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมต่อระบบรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี-พังงา สิ้นสุดทางเหนือของห้าแยกฉลอง ห่างจากห้าแยก 200 เมตร รวม 58.525 กม.
เส้นทางเดินรถจะเริ่มช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 30,154 ล้านบาท อัตราค่าโดยสารเก็บตามระยะทาง โดยกำหนดอัตราสูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อคนต่อเที่ยว ตามแผน รฟม.จะขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีและคัดเลือกเอกชนในปี 2562 เริ่มก่อสร้างในปี 2563 คาดแล้วเสร็จในปี 2566
7 มกราคม 2562