นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวปีละประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.40 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในแต่ละปีมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน นับเป็นพืชที่มีปริมาณฟางและตอซังมากกว่าพืชอื่นๆ ชาวนาส่วนใหญ่จึงนิยมเผาตอซังข้าวเพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน แต่ได้ส่งผลให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงเกิดการสูญเสียของน้ำในดิน อินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่สำคัญ ตลอดจนทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน
จากการประเมินการเผาตอซังและฟางข้าวของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าดินต้องสูญเสียธาตุอาหารหลักเป็นไนโตรเจนถึง 90 ล้านกิโลกรัม ฟอสฟอรัส 20 ล้านกิโลกรัม และโพแทสเซียม 260 ล้านกิโลกรัม ยังไม่นับการสูญเสียธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ อีกกว่า 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาฟาง ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด
นายประสงค์ กล่าวต่อไปว่า ฟางข้าวและตอซังข้าวเป็นผลพลอยได้หลังจากการเก็บเกี่ยวและนำเมล็ดข้าวออกแล้ว ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย หากมีการไถกลบตอซังข้าวจะทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพดีขึ้น มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามให้ผลผลิตดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเนื่องจากอินทรียวัตถุในดินที่มีมากขึ้น นอกจากช่วยทำให้ดินดีแล้ว ยังมีการนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค ทำปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน ทำเยื่อกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้เส้นใยจากต้นข้าว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับเส้นใยธรรมชาติประเภทอื่นๆ เช่น ผักตบชวา ป่านศรนารายณ์ หวาย ปอ เป็นต้น
“ประโยชน์จากฟางข้าวไม่ใช่มีเพียงเป็นธาตุอาหารในดินแต่สามารถนำมาประยุกต์เป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน หรือทำเป็นหุ่นฟางลักษณะต่างๆ สำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านศิลปะยังสามารถประดิษฐ์ คิดค้นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน หรือเป็นวัสดุทดแทนไม้ อย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ของตกแต่งและของที่ระลึกอื่นๆ รวมทั้งสามารถสร้างสรรค์ศิลปะจากฟางข้าวในเชิงสัญลักษณ์ เช่น หุ่นฟางข้าวขนาดใหญ่ เพื่อนำไปประดับตกแต่งสถานที่หรือสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่ชาวนาและคนในชุมชนต่อไป” นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติม