เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลของสถานศึกษา หรือ Q-Info มาใช้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต 7 แห่ง โครงการนี้ได้ทดสอบใช้มากว่า 4 ปีแล้ว โดยมีการจัดประชุมเพื่อจัดทำแผนการศึกษาและทบทวนการจัดทำ “พิมพ์เขียวการศึกษา” หรือ “Phuket Education Blueprint” ด้านการศึกษา ขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า เรานำระบบ Q-info มาใช้เพื่อจัดการศึกษาและอยากดูแลเด็กให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา พัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ เพราะนักเรียนของเทศบาลมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง เพื่อต่อยอดนำไปสู่การแผนการพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะต้องอาศัยภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ระบบ Q-Info ยังช่วยยังช่วยด้านการบริหารจัดการการศึกษา ลดเวลาการทำงานของครูด้านเอกสาร เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเป้าหมายต่อไปของระบบที่เรานำมาใช้คือ การนำไปแก้ปัญหาเด็กที่จบการศึกษาแต่ไม่มีงานทำ ซึ่งเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้เด็กมีงานทำ สอดคล้องกับปะเภทงานตามบริบทความเป็นเมืองภูเก็ตได้ในอนาคต นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้กล่าวถึงการนำระบบ Q-Info มาใช้ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ได้ทดลองใช้งานระบบ Q-Info ในการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ ทั้งระบบการศึกษาในเทศบาลนครภูเก็ต โดยปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา มีบุคลากรครู 658 คน นักเรียน 9,668 คน ใช้ระบบ Q-info ในการจัดการศึกษาและติดตามข้อมูลการเรียนการสอนที่เปิดสอนทั้งสิ้น 2,729 วิชา ตลอดปีการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยในการบริหารจัดเก็บ ในรูปแบบข้อมูลดิจิตอลอย่างครบวงจร
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ในระยะเวลา 4 ปี ที่ใช้งานระบบ Q-info จำนวนนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.5 ของทั้ง 7 สถานศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปีการศึกษา รวมทั้งแนวโน้มการลาออกจากระบบการศึกษาของทั้ง 7 โรงเรียนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสถานศึกษาทั้ง 7 แห่ง มีค่าเฉลี่ยจำนวนนักเรียนติด 0 สะสมเกิน 3 วิชาใน 1 ปีการศึกษา ที่ลดลงมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 4 ปี ที่ใช้งานระบบ Q-info ในขณะที่จำนวนนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.5 ของทั้ง 7 สถานศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปีการศึกษา รวมทั้งแนวโน้มการออกจากระบบการศึกษาของทั้ง 7 โรงเรียนการลดลงอย่างต่อเนื่อง ดร.ไกรยส กล่าว
“ทั้งนี้การศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตก้าวหน้ามาถึงจุดนี้ได้ เพราะผู้บริหารทุกระดับตั้งแต่ระดับเทศบาลจนถึงระดับสถานศึกษาให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาแบบครบวงจร จนปัจจุบันสำนักการศึกษาและโรงเรียนในเทศบาลภูเก็ต ได้เลิกใช้กระดาษในการจัดการข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่แล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นโรงเรียนและระบบการศึกษาดิจิตอลเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้” ดร.ไกรยสกล่าว