close

หน้าแรก

menu
search

มหากาพย์ แก้ปัญหา “นมบูด” เรื่องนี้อีกยาว

schedule
share

แชร์

       งบประมาณมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่ทำให้เกิดมหากาพย์ปัญหา “นมโรงเรียน” มายาวนานหลายปี  การเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องเพื่อให้ได้รับการจัดสรรโควตาการผลิตในจำนวนมาก โดยที่ไม่มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ปลอดภัย และเพียงพอมารองรับ ทำให้มีนมบูดเน่าเสีย ไร้คุณภาพ ถูกส่งต่อมายังเด็กนักเรียน และกลายเป็นเด็กน้อยเหล่านั้นที่ต้องรับเคราะห์กรรม

       โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็ก  กอปรกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้สามารถผลิตและขายน้ำนมดิบได้ภายในประเทศ ภายหลังได้กำหนดให้มี คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด เป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารดูแลการจัดสรรโควตาการผลิตและขายนมโรงเรียนทั่วประเทศ

       คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการ และมี องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นฝ่ายเลขานุการ มิลค์บอร์ดมีบทบาทอย่างมากต่อการจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ

       ภายใต้การบริหารงานของมิลค์บอร์ด กลับปรากฏมีข่าวเรื่องของปัญหานมโรงเรียนบูดเน่า รวมทั้งข่าวปลอมแปลงเอกสารตกแต่งตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบเกินจริง (ฟอกนม) เพื่อขอรับโควตาผลิตนมจำนวนมากขึ้น และข่าวที่เข้าข่ายการทุจริตออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์อย่างแพร่หลาย ข่าวดังต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คัดมาจากข่าวปัญหานมโรงเรียนที่มีมากมายนับไม่ถ้วน

       ปี 2553 นมชนิดถุงแบบพาสเจอร์ไรซ์ที่ส่งให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบลที่วัง จังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 1,400 ถุง บูดเน่าเสีย ผลิตโดยโรงงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยคาดว่าเกิดจากการจัดเก็บในที่อุณหภูมิสูงกว่า 4 องศา

       ปี 2554 นักเรียนจาก 5 โรงเรียน จำนวน 254 คน ในจังหวัดนครปฐม มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากดื่มนมโรงเรียนที่ผลิตจากสหกรณ์โคนมจังหวัดนครปฐม โดยผลการตรวจสอบเกิดจากสายส่งการผลิตปิดเครื่องทำความเย็นขณะขนส่ง และใช้น้ำแข็งแช่แทน ทำให้นมเกิดการบูดเน่าเสีย

       ปี 2555 โรงเรียนในพื้นที่ อบต.แม่กัวะ จำนวน 4 แห่ง และโรงเรียนบ้านน้ำโทก-หัวดง  จังหวัดลำปาง พบนมบูด มีสีขาวขุ่น และมีแป้งตะกอน จำนวนกว่า 1,600 กล่อง โดยรับนมมากจากโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง

       ปี 2556 โรงเรียนบ้านนาตาลคำข่า จ.สกลนคร เรียกร้องขอนมใหม่ หลังจากที่ต้องกินนมค้างสต็อกใกล้หมดอายุ นมเริ่มจับตัวเป็นก้อน เนื่องจากปัญหาการส่งนมใหม่ที่ล่าช้าเพราะปัญหาเอกสารผิดพลาด ระหว่าง อบต.นาตาลผู้รับผิดชอบการสั่งซื้อ และ อ.ส.ค.

       ปี 2557 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จำนวน 5 แห่ง พบว่านมที่แจกให้เด็กนักเรียนไปดื่มช่วงปิดเทอม บูดเน่า จึงเรียกคืนนมจำนวน 250,545 กล่อง โดยนมล็อตดังกล่าว สั่งซื้อมาจาก อ.ส.ค. ซึ่งมอบอำนาจให้ โรงนมกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จ.ชุมพรเป็นผู้แทน แต่ข้างกล่องบรรจุนมระบุว่า ผลิตโดยสหกรณ์โคนมพัทลุง

       ปี 2558 ครูและอาจารย์โรงเรียนบ้านน้ำลี จ.น่าน พบนมบูดเสียมากกว่า 500 กล่อง เป็นนมชนิดกล่องที่สั่งซื้อมาจาก องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ซึ่งมอบอำนาจให้ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด และบริษัท ยู เอ็ม โภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย

       ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน จึงมีท่าทีออกมาจากฝั่งของหน่วยงานท้องถิ่น โดยนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคม องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีใจความว่า คณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่จัดสรรโควตาการผลิตและควบคุมคุณสมบัติของผู้ประกอบการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดซื้อตามที่คณะกรรมการโคนมกำหนด โดยไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือคัดเลือกนมที่มีคุณภาพได้ จึงทำให้ส่งผลด้านลบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

       ปี 2559 เด็กนักเรียนโรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น จำนวน 83 คน มีอาการท้องเสียหลังดื่มนมโรงเรียนพาสเจอร์ไรซ์ชนิดถุงที่ผลิตโดยสหกรณ์โคนมจังหวัดขอนแก่น หลังเกิดเหตุการณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปตรวจสอบ และโชว์ดื่มนมโรงเรียนให้ผู้สื่อข่าวดู ภายหลังจากเปลี่ยนรูปแบบของนมกล่องชนิดถุงเป็นชนิดกล่อง ก็ยังพบว่ามีนมบูดอีก

       ในปีเดียวกันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรซ์และยูเอชทีทั่วประเทศ ในช่วงปี 2555-2558 จำนวน 1,750 ตัวอย่าง (ชนิดพาสเจอร์ไรซ์ 1,190 ตัวอย่าง และยูเอชที 560 ตัวอย่าง) ผลการตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน 436 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.9 ในจำนวนนี้เป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรซ์ 321 ตัวอย่าง และยูเอชที 115 ตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการ 290 ตัวอย่าง ด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา 51 ตัวอย่าง

       ปี 2560 เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดสระบัว จังหวัดปทุมธานี จำนวน 20 คน มีอาการท้องเสีย อาเจียร หลังจากดื่มนมโรงเรียน ซึ่งนมดังกล่าวมาจากโครงการของเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์

       และในปี 2561 โรงเรียนไผทอุดมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือถึงผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงเรื่องการงดดื่มนมโรงเรียนชั่วคราว เนื่องจากพบว่ามีนมโรงเรียนบูดเน่าเสีย นมล็อตดังกล่าวผลิตจากสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จังหวัดสระบุรี ซึ่งก่อนการตรวจสอบ ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ยืนยันว่ากระบวนการผลิตได้มาตรฐาน คาดว่าจะเกิดจากกระบวนการขนส่งและการจัดเก็บ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่า เกิดจากเครื่องซีลกล่องชำรุด ทำให้นมเน่าเสีย จากกรณีดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ อ.ส.ค. ตัดสิทธิ์ส่งนมจากสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ 25%

       ข้อร้องเรียนปรากฏเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น กรณีนายกสมาคม ผู้ผลิต นม ยู.เอช.ที. ได้แจ้งความร้องทุกข์กับกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับโรงนมเอกชน และศูนย์รวบรวมนม 25 ราย โดยระบุว่ามีการซื้อขายโคนมเป็นเท็จ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามี 5 รายที่พบข้อพิรุธในเอกสาร ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

       คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยื่นมือเข้ามาสะสางด้วยการทำข้อเสนอแนะต่อ มิลค์บอร์ด มีสาระสำคัญคือ สั่งให้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเป็นตัวกลางจัดสรรสิทธิการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึง อ.ส.ค. ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาให้โรงเรียนเป็นผู้สั่งซื้อนมโดยตรงผ่านการจัดซื้อด้วยระบบจัดหาพัสดุทางตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวิธีประกวดราคา แทนวิธีการจัดซื้อแบบพิเศษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังให้ทบทวนองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยเสนอให้เปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจาก อ.ส.ค. ไปเป็นกรมปศุสัตว์ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในการบริการจัดการนมโรงเรียน รวมทั้งกำหนดให้มิลค์บอร์ดมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเพียงอย่างเดียว และควรแยกอำนาจการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการออกมา

       กระทรวงเกษตรฯ ขานรับข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. โดยจัดทำข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการนมโรงเรียนเสนอที่ประชุม ครม. มีสาระสำคัญคือ ให้แยกโครงสร้างการบริหารออกจาก มิลค์บอร์ด และแต่งตั้งคณะกรรมอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้นมาใหม่ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ แทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. โดยให้ อ.ส.ค. ทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย เช่นเดิม ด้านการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นและหน่วยจัดซื้อให้ดำเนินการเช่นเดิม แต่ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบบริหารจัดการ ไม่น้อยกว่า 3% ของงบนมโรงเรียนทั้งหมดให้กรมปศุสัตว์และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ด้านวิธีการจัดซื้อให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่ได้รับงบจัดซื้อนมโรงเรียนจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษเช่นเดิม

       ข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างมิลค์บอร์ดใหม่ พึ่งพาการกระจายอำนาจให้ระดับภูมิภาค โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการระดับพื้นที่ 5 กลุ่ม ครอบคลุม 7 เขตพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมมากที่สุด  กลุ่ม 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานดูแลเขต 1 กลุ่ม 2 ผู้ว่าฯ นครราชสีมาดูแลเขต 2 และ 3 กลุ่ม 3 ผู้ว่าฯ ขอนแก่นดูแลเขต 4 กลุ่ม 4 ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ดูแลเขต 5 และ 6 กลุ่ม 5 ผู้ว่าฯ ราชบุรีดูแลเขต 7 8 และ 9

       การปรับปรุงโครงสร้างนมโรงเรียนครั้งนี้ หลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นการเซ็ตซีโร่ขาใหญ่ในวงการนมโรงเรียนใหม่ และเชื่อมั่นว่าการจัดซื้อนมจะเป็นไปด้วยความสุจริต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่คล้อยตามกับเรื่องนี้

       แหล่งข่าวจากสหกรณ์โคนมแห่งหนึ่งมองว่า การปรับโครงสร้างโดยลดบทบาทของมิลค์บอร์ดที่มีตัวแทนของเกษตรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ด้วยลง และให้กรมปศุสัตว์เข้ามามีบทบาทแทน ไม่ได้ทำให้มีความโปร่งใสขึ้นแต่อย่างใด  เพราะกรมปศุสัตว์ก็ยังเป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีอำนาจในการจัดสรรโควตาอยู่ รวมทั้งยังมอบอำนาจให้ อ.ส.ค.สามารถจัดซื้อด้วยวิธีกรณีพิเศษได้เช่นเดิม ดังนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า อ.ส.ค.จะจัดสรรได้อย่างเป็นธรรม และผู้ประกอบการด้านขนส่งจะยังผูกขาดอยู่เช่นเดิมหรือไม่ เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนเดิม

       หากมองในมุมของคนเก่าที่เคยมีบทบาทในมิลค์บอร์ด การปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้พื้นที่เก่าอย่างกระทรวงเกษตรฯ ก็อาจจะยังไม่ใช่หนทางของความโปร่งใสที่แท้จริง ปีการศึกษา 1/2562  ที่กำลังจะมาถึง จึงเป็นบททดสอบสำคัญที่จะตอบคำถามที่ว่า นมโรงเรียน จะเข้าสู่วงวันเดิมๆ อีกหรือไม่…

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ดวงเฮง! อดีต ผอ. กองช่างเทศบาล ถูกรางวัลที่ 1 รับ 30 ล้านบาท

ดวงเฮง! อดีต ผอ. กองช่างเทศบาล ถูกรางวัลที่ 1 รับ 30 ล้านบาท

อดีต ผอ.กองช่างเทศบาลนครปากเกร็ด ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ร…

schedule
นครเชียงใหม่ เปิดตัว! รถฉีดน้ำทำความสะอาด EV

นครเชียงใหม่ เปิดตัว! รถฉีดน้ำทำความสะอาด EV

เทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนร…

schedule
นายกเล็กเมืองเก่า มอบอินทผาลัมลดอาการอ่อนล้า ช่วงเดือนรอมฎอน

นายกเล็กเมืองเก่า มอบอินทผาลัมลดอาการอ่อนล้า ช่วงเดือนรอมฎอน

“ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล” นายกเทศมนตรีนครพระนครศ…

schedule
ใจป้ำ! นายกเล็กราชบุรีมอบเงิน 600,000 บาท ให้ รพ.ศูนย์ราชบุรี

ใจป้ำ! นายกเล็กราชบุรีมอบเงิน 600,000 บาท ให้ รพ.ศูนย์ราชบุรี

“ศักดิ์ชัย พิศาลผล” นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี พร้อมครอบค…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]