นักวิชาการกฎหมายท้องถิ่นชี้ ยาย 89 ไม่ต้องคืนเงิน ทั้งมีสิทธิรับต่อจนกว่าจะเสียชีวิต ยันยายและเจ้าหน้าที่ อบต.ไม่มีความผิด หากจะเอาผิดต้องเป็นผู้ที่ออกระเบียบ
วันที่ 27 มกราคม 2564 นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณี ยายวัย 89 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ถูกเรียกคืนเงินค่าเบี้ยผู้สูงอายุรวมดอกเบี้ยคืนกว่า 84,000 บาท หลังได้รับมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติ เพราะได้รับเงินบำนาญจากลูกชายซึ่งเป็นทหารและเสียชีวิตในหน้าที่แล้วนั้น ระบุว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้อนกับสิทธิอื่น ไม่สามารถเรียกคืนได้ และผู้สูงอายุที่รับเงินไปก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องคืนเงิน รวมถึงต้องได้รับเบี้ยยังชีพนั้นต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการออกระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง หากจะเอาผิดต้องเอาผิดกับผู้ออกระเบียบ ไม่ใช้ผู้สูงอายุที่รับเงินหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในอบต.
“เบี้ยผู้สูงอายุ ซ้อนกับสิทธิที่ได้รับอย่างอื่นตามที่เป็นข่าว นอกจากจะเรียกคืนจากยายไม่ได้แล้ว ตามระเบียบที่เจ้าหน้าที่ในกรมส่งเสริม ในกระทรวงมหาดไทยออกมาให้ เจ้าหน้าที่ อปท.ปฏิบัติ ยังบังคับให้ อปท.จะต้องจ่ายให้แก่ยายต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต
….นักกฎหมาย ทนายความ อาจารย์กฎหมายมหาลัยต่างๆ ก็ออกมาทำความเห็น และโดยมากจะยกกฎหมายแพ่งมาวินิจฉัย
แต่โดยมากนักกฎหมายเหล่านั้น ไม่รู้เรื่องระเบียบ ที่กระทรวงมหาดไทยออกมาให้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้ปฏิบัติงาน
….ผมเคยเป็นนิติกรศาล และโดยเฉพาะในตำแหน่งนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้นำระเบียบต่างๆ มาปฏิบัติจริง ทั้งเป็นที่ปรึกษาให้ส่วนราชการของท้องถิ่น มาสิบกว่าปี จะขอแสดงความเห็นดังนี้
- เห็นว่า ผู้สูงอายุรายที่รับเงินไป ไม่มีความผิดอย่างใดๆ เลย แม้ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ทั้งไม่ต้องคืนเงินด้วย และ อปท.ยังต้องจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุต่อไปจนกว่า ยายจะเสียชีวิต
- กรณีดังกล่าวเป็นความผิดของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ของ อปท.เนื่องจากปัญหาเกิดจากระเบียบ เจ้าหน้าที่ที่ผิดจึงเป็นเจ้าหน้าที่ใน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในกระทรวงมหาดไทย ผู้ออกระเบียบ
- เหตุผลคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของ อปท. ในข้อที่ 6 ซึ่งออกมาเพื่อ พ.ศ.2548 ไม่ได้กำหนดห้ามผู้สูงอายุซึ่งได้รับเงินอื่นจากรัฐ ที่จะยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพจาก อปท. แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ อปท.เอง เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ก็ไม่มีอำนาจยกเหตุต่างๆ ที่ระเบียบไม่กำหนดไว้ มาปฏิเสธสิทธิของผู้สูงอายุ เพราะการจะปฏิเสธสิทธิของประชาชน จะต้องมีระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเท่านั้น ดังนั้นในปี 2548 ฝ่ายผู้สูงอายุที่รับสิทธิอื่นอยู่แล้ว ก็มีสิทธิยื่นขอรับเบี้ยผู้สูงอายุ แม้ฝ่าย เจ้าหน้าที่ อปท.ก็มีอำนาจจ่าย
- ต่อมาในปี 2552 กระทรวงมหาดไทยเพิ่งแก้ระเบียบ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติเพิ่มเติมว่า ให้ห้ามจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ แก่ผู้สูงอายุที่รับสิทธิอื่นอยู่แล้ว จึงมีปัญหาว่า ผู้สูงอายุซึ่งรับสิทธิอื่น ที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามระเบียบ ปี 48 และรับเบี้ยผู้สูงอายุมาแล้ว จะกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามระเบียบที่แก้ไขในปี 52 หรือไม่ และฝ่ายเจ้าหน้าที่ อปท.จะต้องระงับสิทธิ ตั้งแต่ วันที่ระเบียบที่แก้ใหม่มีผลบังคับ หรือไม่
- ประเด็นพิจารณาดังกล่าว ชัดเจนอยู่ในบทเฉพาะกาลของ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ แก้ไขใหม่เมื่อ ปี 52 โดยในข้อ 17 ระบุว่า มิให้กระทบสิทธิของผู้สูงอายุตามระเบียบ ฉบับเดิม และให้ถือว่า ผู้สูงอายุดังกล่าวได้เป็นผู้ลงทะเบียนและยื่นคำขอถูกต้องตามระเบียบใหม่ นั่นหมายความว่า ระเบียบที่แก้ใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริม ของกระทรวงมหาดไทย ได้ห้าม เจ้าหน้าที่ อปท.ไปตัดสิทธิในการรับเบี้ยผู้สูงอายุดังกล่าว ถ้าเจ้าหน้าที่ อปท.ไปตัดสิทธิและถูกฟ้องต่อศาล ก็อาจผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
- สรุปคือ ตามประเด็นที่เป็นข่าว กรมบัญชีกลาง หรือหน่วยงานที่ สั่งให้ อปท.เรียกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คืน เป็นการสั่งการโดยผิดหลง เพราะไม่อ่านระเบียบกระทรวงมหาดไทย ให้ดี
- เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่ออกมาให้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปฏิบัตินั้น ผู้ออกระเบียบเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่ในห้องแอร์ในกรม ในกระทรวง เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานใน อบต.เทศบาล หรือ อบจ.มาก่อน ไปนั่งเทียนเพ้อฝันยกร่างระเบียบในห้องแอร์ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักเป็นเหยื่อจากระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติ สำหรับกรณีเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ตามที่เป็นข่าวดราม่า ชัดเจนว่า โดยระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยออกมา นอกจาก อปท.ไม่มีอำนาจเรียกคืนแล้ว ยังต้องจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุ (ซึ่งรับสิทธิอื่นอยู่แล้ว) ต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต
- ถ้าจะถามหาความผิดของเจ้าหน้าที่ ก็แนะนำให้ไปเอาผิดกับ เจ้าหน้าที่ในกรมส่งเสริมฯ ในกระทรวงมหาดไทย ผู้ออกระเบียบ ไม่ใช่ มาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เขาดำเนินการตรงตามระเบียบที่คุณออกมาแล้ว