เมืองพัทยาร่วมกับกรมทางหลวงชนบทนำร่องสร้าง สะพานลอยคนพิการ สำเร็จพร้อมใช้งานแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณหน้ามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ พัทยากลาง จังหวัดชลบุรี เพื่อผลักดันให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยงบประมาณ 14.58 ล้านบาท โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดใช้สะพานลอย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา
สะพานลอยดังกล่าวสร้างด้วยโครงเหล็กถัก ความยาว 42.78 เมตร กว้าง 2.80 เมตร พื้นทางเดินปูกระเบื้องแกรนิตโต้ ราวบันไดสแตนเลส และติดตั้งรางตาข่ายเหล็กกันตก หลังคาแผ่นเหลือกเคลือบชนิด ALUMINIZED พร้อมติดตั้งรางน้ำสแตนเลส พร้อมลิฟท์แก้วแบบโปร่งแสง เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถเห็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ และนักเรียน ขณะใช้ลิฟท์ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และมีแผงปุ่มกดสำหรับผู้พิการ อักษรเบรลล์ ปุ่มกดกระดิ่ง ปุ่มกดโทรศัพท์ช่วยเหลือ กล้อง CCTV เพื่อส่งสัญญาณถึงอาคารควบคุมพัทยากลางในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งติดตั้งไซเรนหน้าลิฟท์ทั้งสองชั้น ติดตั้งระบบ UPS สำรองไฟ หากเกิดไฟฟ้าดับ ลิฟท์จะเลื่อนลงมาชั้นล่างเพื่อเปิดประตูให้คนออกจากลิฟท์ได้อย่างปลอดภัย
(สะพานลอยเมืองขอนแก่น)
สะพานลอยของเมืองพัทยา เป็นสะพานลอยเพื่อคนพิการอย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย แต่ไม่ใช่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เมื่อปี 2559 เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นได้ออกแบบและติดตั้งลิฟท์บริเวณสะพานลอยหน้าโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว คนชรา และผู้ป่วยที่มารับการรักษา โครงการดังกล่าวสร้างขึ้นรองรับผู้พิการ ตามโครงการ ‘ขอนแก่นเมืองใจดี การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล’ (Khon Kaen universal design Project) โดยเมืองขอนแก่นตั้งเป้าจะขยายโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 แห่ง
(สะพานลอยเมืองเฉิงตู)
สำหรับในต่างประเทศ สะพานลอยติดลิฟท์เพื่อผู้พิการมีใช้มานานแล้ว อาทิ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน เปิดใช้เมื่อปี 2553 ด้วยงบประมาณ 5 ล้านหยวน (ประมาณ 25 ล้านบาท) ขณะที่สะพานลอยธรรมดาใช้งบประมาณ 4 ล้านหยวน (ประมาณ 20 ล้านบาท) ตัวลิฟท์เป็นระบบไฮดรอลิก ติดกระจกใสรอบด้าน ซึ่งทางรัฐบาลของจีนได้จ้างบริษัทมาโดยเฉพาะเพื่อการทำความสะอาด และดูแลระบบการใช้งาน เน้นความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลัก