เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายบริหารได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 83,398.92 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรใช้จ่ายใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,586.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.38 ด้านที่ 2 การสาธารณสุข 6,733.26 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.11 ด้านที่ 3 การระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 9,863.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.88 ด้านที่ 4 การโยธาและระบบจราจร 16,362.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.71 ด้านที่ 5 การบริการและพัฒนาสังคม 6,345.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.65 ด้านที่ 6 พัฒนาด้านการศึกษา 4,634.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.58 และด้านที่ 7 การบริหารจัดการทั่วไป 25,474.58 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.69
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้เสนอร่างข้อญัตติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยแจกแจงว่า จำนวนงบที่เสนอขอจัดสรร จำนวน 83,398.92 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำของกรุงเทพมหานคร จำนวน 83,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 398.92 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ซึ่งพิจารณาจากประมาณการรายรับ จำนวน 83,674.11 ล้านบาท ประกอบด้วย ประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร จำนวน 83,000 ล้านบาท และประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 674.11 ล้านบาท โดยยังได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล
“ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯไปสู่ “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี พ.ศ.2575 และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ.2563 เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองในฝันของประชาชน” ผู้ว่า กทม. กล่าว
ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดแผนปฎิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี 2563 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการพัฒนากรุงเทพฯ ไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1. มหานครปลอดภัย เน้นการจัดการน้ำเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ส่งเสริมระบบจัดการขยะ ไฟฟ้าส่องสว่าง ปรับปรุงผิวจราจรทางเท้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง 2. มหานครสีเขียวสะดวกสบาย เน้นการพัฒนาสวนสาธารณะและเพิ่มพื้นที่สีเขียว และจัดระบบขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกับโครงการ ล้อ ราง เรือ 3. มหานครสำหรับทุกคน เน้นพัฒนาและยกระดับการศึกษาในพื้นที่ กทม. 4. มหานครกระชับ โดยการจัดทำผังเมืองรวม 5. มหานครประชาธิปไตย สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา กทม. และบูรณาการความร่วมมือกับ อปท. ในจังหวัดรอยต่อ กทม. 6. มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ เน้นส่งเสริมการตลาด การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ 7. การบริหารจัดการเมืองมหานคร พัฒนาและปรับปรุงระบบการชำระภาษี ระบบงบประมาณ และวินัยทางการเงินการคลัง กทม.