close

หน้าแรก

menu
search

อปท.ของบฯไม่ต้องผ่านกรม ขอตรงสำนักงบฯได้เลย ให้รัฐมนตรีรับรอง

schedule
share

แชร์

 เปลี่ยนเส้นทางการของบฯ อุดหนุนของท้องถิ่น ไม่ผ่าน สถ. แต่ให้ขอตรงสำนักงบฯ โดยผ่านความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทยก่อน มุ่งกระจายเงินลงท้องถิ่นเร็วขึ้น

  จากที่ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ในมาตรา 29 ระบุว่า การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงินอุดหนุน สําหรับการดําเนินการโดยทั่วไปหรือสําหรับการดําเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยื่นคําขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอต่อผู้อํานวยการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ผู้อํานวยการกําหนด…

  มีผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 7,852 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,332 แห่ง เทศบาล 2,442 แห่ง รวมทั้งเขตปกครองรูปแบบพิเศษอย่าง กทม. และเมืองพัทยา ต้องเป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องยื่นผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อีกต่อไป

  เดิมการของบฯ อุดหนุนของท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. ต้องยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ กรมส่งเสริมฯ โดยเสนอตั้งงบผ่านโครงสร้างท้องถิ่นจังหวัด มายังผู้ว่าราชการจังหวัด และผ่านกรมฯ เพื่อส่งไปยังสำนักงบฯ

  พรบ. ฉบับนี้ กำหนดชัด ต้องยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงมหาดไทย ขอความเห็นชอบประกอบ เพื่อเสนอต่อ ผอ.สำนักงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้น งบประมาณดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น

  สาเหตุที่ปรับปรุงกฎหมายวิธีการงบประมาณให้ท้องถิ่นขอจัดสรรเองโดยตรง เกิดจากข้อคิดเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มองว่าท้องถิ่นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณให้อยู่แล้ว รวมทั้งยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลรวมอยู่ด้วย สมควรให้ขอรับการจัดสรรโดยตรงได้เอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อการกระจายเงินลงท้องถิ่น

  เมื่อของบฯ ตรง ก็ต้องแจงรายละเอียดฐานะทางการเงิน… เรื่องนี้ผูกพันกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งถูกมองว่า เมื่อมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นก็ควรต้องสร้างรายได้ หารายได้ด้วยตัวเอง ถ้ายังต้องให้รัฐอุดหนุนงบประมาณอีก ก็ต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะให้เงินอุดหนุนส่วนนี้เท่าไร ซึ่งแต่ละ อปท. ต้องแสดงงบการเงินอย่างตรงไปตรงมาด้วย อาทิ เงินสะสม รายได้ และรายจ่าย            

  เปิดคำของบประมาณปี 2563 ของกรมส่งเสริมฯ เป็นเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่น 279,438.8267 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป 227,927.5538 ล้านบาท เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 51,511.6457 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ท้องถิ่นได้รับงบฯ อุดหนุน 253,123.9   ล้านบาท และปี 2561 ได้รับงบฯ อุดหนุน 241,259.4 ล้านบาท

  โดยในปี 2563 จะเริ่มเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการของบฯ ในรูปแบบใหม่ นำร่องโดย อบจ. 76 แห่ง ซึ่งสำนักงบประมาณได้แจ้งให้จัดทำคำของบประมาณและบันทึกคำของบประมาณโดยตรงในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำงบประมาณ (e-Budgeting) ของสำนักงบประมาณ และให้ส่งคำขอพร้อมรายละเอียดประกอบ โดยให้จังหวัดรวบรวมส่งผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดทำความเห็นเสนอต่อรมว.มหาดไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบประกอบคำของบฯ  

  สำหรับในส่วนของเทศบาลเมืองและเทศบาลนครรวม 209 แห่ง คาดว่าจะเริ่มในปี 2564 ตามมาด้วยเทศบาลตำบล 2,233 เริ่มในปี 2565 และสุดท้ายคือ อบต. 5,332 แห่ง เริ่มในปี 2566

  มุมหนึ่งมองว่า เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีโอกาสเสมอภาคกับหน่วยรับงบประมาณอื่นในเรื่องวิธีการงบประมาณซึ่งการมีฐานะเป็นหน่วยรับงบประมาณย่อมมีสิทธิและหน้าที่ควบคู่กัน ทั้งยังส่งตรงไปยังสำนักงบฯ ได้เอง โดยไม่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง เมื่อ รมว. มหาดไทยเห็นชอบ และสำนักงบฯ อนุมัติ งบประมาณก็จะถูกโอนตรงไปยังแต่ละ อปท.เลย ทำให้เงินเข้าสู่ท้องถิ่นได้เร็วขึ้น…

  ทว่า อีกด้านหนึ่ง มองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับสำนักงบฯ ที่ต้องรองรับงานจาก 400 กรม งานก็ค่อนข้างโหลดเต็มที่แล้ว หากเพิ่ม อปท.อีก 7,852 แห่ง การพิจารณาและการเบิกจ่ายงบประมาณอาจจะล่าช้ากว่าเดิม

  นอกจากนี้ เมื่อ อปท. ต้องเป็นหน่วยงานที่เสนองบฯ เอง ทำให้ต้องไปชี้แจงที่สำนักงบฯ และเมื่อกฎหมายงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ อปท.ก็ต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่สภาผู้แทนราษฎรด้วย จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนในส่วนนี้ของ อปท. หรือไม่

  ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงไปตรวจสอบโครงการต่างๆ สำนักงบฯ จัดสรรคนลงไปตรวจสอบได้ครบถ้วนหรือไม่ ในขณะที่หน่วยงานตรวจสอบเดิมอย่าง กรมส่งเสริมฯ ไม่สามารถลงไปปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ได้ เพราะไม่ได้มีบทบาทในการกำกับงบประมาณของท้องถิ่นอีกต่อไป และเสี่ยงต่อการถูก อปท. ร้องเรียนหากลงไปตรวจสอบ

  ในส่วนของงบฯ อบจ. 76 แห่ง จะพบอุปสรรคด้านใดหรือไม่ คงรอกันอีกไม่นาน เพราะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระที่ 1  จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และวาระที่ 2-3 จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภากลางเดือนมกราคมปีหน้านี้เอง

 

 

               

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]