เทศบาลนครอุดรธานี ได้รับส่งมอบงาน “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานี” ที่ทำสัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน พร้อมระบบบำบัดน้ำเสียกับบริษัทเอกชน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้สัญญา 25 ปี ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบการใช้งาน และจะเปิดใช้งานจริงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 หรือวันแรกของปีงบประมาณ 2563
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เปิดเผยข้อมูลกับนิตยสารผู้นำท้องถิ่น ออนไลน์ ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานีสามารถรองรับขยะมูลฝอยได้สูงสุด 600 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 2 ชุด สามารถกำจัดขยะได้ชุดละ 300 ตันต่อวัน โดยหนึ่งในสองชุดนี้ ถูกออกแบบให้รองรับได้ทั้งขยะสดและขยะเก่าจากหลุมฝังกลบ ข้อดีของการออกแบบระบบคัดแยก 2 ชุดนี้คือ ช่วยให้ระบบมีความมั่นคง สามารถเดินเครื่องได้ตลอดปี แม้ว่าจะหยุดเครื่องชุดใดชุดหนึ่งเพื่อซ่อมบำรุง อีกเครื่องหนึ่งก็ยังสามารถรองรับขยะปริมาณ 300 ตันต่อวัน ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับเทศบาลฯ
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยของ จ.อุดรธานี ได้ทั้งหมด ตามข้อมูลการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยรวมประมาณ 1,112 ตันต่อวัน
ด้านเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้ามี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีการคัดแยกขยะแบบ Mechanical Biological Treatment หรือ MBT สามารถคัดแยกขยะได้สูงสุด 600 ตันต่อวัน รองรับทั้งขยะเก่าที่ถูกฝังกลบและขยะใหม่ โดยมีอุปกรณ์หลักคือ เครื่องสับ ใช้สำหรับลดขนาดขยะและฉีกถุงขยะ ตะแกรงร่อนแบบหมุน สำหรับแยกขยะสดขนาดเล็กกว่า 80 มล. จำพวกเศษอาหารและอินทรีย์สาร เพื่อส่งต่อไปยังระบบหมักแบบใช้อากาศต่อไป ตะแกรงร่อนแบบดิสก์ สำหรับใช้แยกขยะเก่าจากหลุมฝังกลบที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 มล. เครื่องคัดแยกโลหะที่มีส่วนประกอบของแม่เหล็ก ใช้ในการคัดแยกโลหะที่มีส่วนประกอบเป็นเหล็กทั้งในขยะใหม่ และขยะเก่าในหลุมฝังกลบ เครื่องคัดแยกด้วยลม สำหรับคัดแยกวัสดุที่มีน้ำหนักต่างกัน วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น กระดาษ พลาสติก จะถูกคัดออกมาในขั้นตอนนี้ ด้านวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องกระดาษ หรือวัสดุอันตราย จะถูกคัดแยกโดยแรงงานคน
ส่วนที่ 2. เทคโนโลยีการแปรสภาพเชื้อเพลิงที่ได้จากการคัดแยกแบบ MBT ใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีส และเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเกชัน ผลิตน้ำมันและแก๊สจากขยะพลาสติก และขยะชีวมวล เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊ส ส่วนที่ 3 เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊ส สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 9,600 กิโลวัตต์
“ระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานี สามารถรองรับขยะที่ไม่มีการคัดแยกจากต้นทางได้ ด้วยระบบ MBT ซึ่งจะแยกองค์ประกอบของขยะมูลฝอยได้อย่างครบถ้วนทั้งส่วนของอินทรีวัตถุ วัสดุรีไซเคิล และพลาสติก ส่วนเศษที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะถูกฝังกลบ ซึ่งจะมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่เข้าสู่ระบบในแต่ละวัน” นายอิทธิพนธ์ กล่าว
นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวถึงการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ในการคัดแยกขยะ และการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้อาคารที่มีระบบระบายอากาศแบบชีวภาพ เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ด้านน้ำเสียที่เกิดจากขบวนการคัดแยกจะถูกส่งต่อไปยังระบบบำบัดน้ำเสียขนาด 50 ตันต่อวัน ซึ่งจะไม่มีการระบายออกพื้นที่ภายนอกแต่อย่างใด
ในด้านของการลงทุนและความคุ้มค่า นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า สำหรับการลงทุนโครงการนี้ เทศบาลนครอุดรธานีได้ดำเนินโครงการในรูปแบบของการให้สิทธิเอกชนในการลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการทั้งหมด โดยเทศบาลฯ จะจ่ายในรูปแบบของค่าจ้างเอกชนในการกำจัดขยะมูลฝอย ด้านประโยชน์ทางตรง เทศบาลฯ จะได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการร้อยละ 2.55 ของรายได้ทั้งหมด รวมทั้งช่วยลดงบประมาณภาครัฐด้านค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอย ด้านประโยชน์ทางอ้อม เทศบาลนครอุดรธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ จะได้ลดงบประมาณในการขยายพื้นที่บ่อฝังกลบ ในระยะยาวจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมของจังหวัดอุดรธานี ให้มีความสะอาด ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
“หลังจากที่ได้ทดสอบระบบไประยะหนึ่ง พบปัญหาว่ามีความชื้นขององค์ประกอบในขยะสูง ส่งผลให้เชื้อเพลิงที่ได้มีความชื้นค่อนข้างสูง และในกระบวนการคัดแยกขยะ จะมีขยะชิ้นใหญ่ เช่น โถชักโครก เศษอิฐ เศษวัสดุก่อนสร้าง วัสดุเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบ เพราะทำให้เครื่องจักรติดขัดในระหว่างการเดินเครื่อง” นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าว
ปัจจุบันสถานการณ์ขยะของเทศบาลนครอุดรธานี มีขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดเฉลี่ย 162.46 ตันต่อวัน ในขยะสดแต่ละวันประกอบด้วย เศษอาหารร้อยละ 53.74 พลาสติกร้อยละ 23.40 กระดาษร้อยละ 11.52 ขวด,แก้วร้อยละ 6.91 โลหะร้อยละ 1.11 และอื่นๆ ร้อยละ 3.32 นอกจากนี้ยังต้องรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 40 แห่ง ปริมาณ 149.26 ตันต่อวัน ซึ่งเมื่อนำขยะเข้าสู่โครงการฯ จะเหลือเศษทิ้งจากการคัดแยกไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด