close

หน้าแรก

menu
search

กพช. เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน รับซื้อ 2.9-5.3 บาทต่อหน่วย ตั้งเป้าเริ่มรับซื้อไฟฟ้าปี 63

schedule
share

แชร์

  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)เมื่อ 4 ธ.ค.62 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากขึ้น เพื่อบริหารจัดการตลอดจนกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

  สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง โดยในปี 63 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์(MW) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น 2 โครงการคือ

  1.Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 63 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ

  2.โครงการทั่วไปเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 64 เป็นต้นไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 MW ใช้วิธีการคัดเลือกโดยกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรกแล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป

สำหรับรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณ 60-90% และ 2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 40%)

  โดยกำหนดส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ 1.สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย 2.สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

  ด้านพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ครอบคลุมหมู่บ้านโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าดังนี้หนึ่ง 5 กิโลเมตรสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี,สอง 3 กิโลเมตรสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และสาม 1 กิโลเมตรสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี ในกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเขตพื้นที่ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นเป็นสำคัญ และชุมชนยังคงได้รับผลประโยชน์ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติ

  ในด้านแผนการจัดหาเชื้อเพลิง ผู้เสนอโครงการต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

  ในส่วนของราคารับซื้อไฟฟ้า เนื่องด้วยเปิดโอกาสให้โครงการที่ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วก่อนปี 60 แต่ไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ ติดปัญหา Grid capacity แต่ปัจจุบันสามารถรับซื้อไฟฟ้าได้แล้วจึงกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช.ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ.60 ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาท,ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 MW ที่ 4.8482 บาท,ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 MW ที่ 4.2636 บาท,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาท,ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท,ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย 4.7269 บาท รวมทั้งกำหนด Fit พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา,ปัตตานี,นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

  ทั้งนี้ กพช.ได้ให้ กกพ.ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และได้เห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย ระยะที่ 2 (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project) Phase 2 หรือ LTM-PIP ระยะ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้ กฟผ.สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันที เพื่อให้สัญญา EPWA มีความต่อเนื่อง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาในประเด็นการขอยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโครงการดังกล่าว

 

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิด! ศูนย์การแพทย์เทศบาลเมืองลาดสวาย พร้อมดูแลสุขภาพประชาชนถ้วนหน้า ‘หน่อง-ปลื้มจิตร์’ ร่วมเผยเทคนิคดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และการฟื้นฟูร่างกาย
ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอน

ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอน

ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมือ…

schedule
“อบจ.” อำนาจเงียบที่ทรงอิทธิพล

“อบจ.” อำนาจเงียบที่ทรงอิทธิพล

ความสำคัญของ อบจ. ผู้มีอำนาจสุดแกร่งและทรงอิทธิพล ด้วยบ…

schedule
สภาฯ คว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.ที่ดินฯ เพิ่มอำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาหน้าบ้านประชาชน

สภาฯ คว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.ที่ดินฯ เพิ่มอำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาหน้าบ้านประชาชน

สภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นชอบ พ.ร.บ.ที่ดินฯ อ้างความเห…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]