ความคืบหน้าในคดีจ้างวานฆ่า นายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าบ้านพัก เมื่อปี 2556 โดยมีนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทยเป็นจำเลยในคดีนั้น
ล่าสุดเวลา 09.00 น. วันที่ 24 กันยายน 2562 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีเลขดำที่ อ.929/61 ระหว่างฝ่ายโจทก์คือพนักงานอัยการ จ.ขอนแก่น ละฝ่ายจำเลย คือ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ในข้อหาฐานก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินประหารชีวิต และให้จำเลยชดใช้ค่าปลงศพเป็นเงิน 300,000 บาท ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยเตรียมทำเรื่องขอประกันตัว และเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลต่อไป
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 นายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัด อบจ.ขอนแก่น ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณหน้าบ้านพักเลขที่ 198/45 หมู่บ้านจอมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวได้ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย ด.ต.วีระศักดิ์ ชำนาญผล จำเลยที่ 1, พ.ต.ท.สมจิตร แก้วพรม รอง ผกก.(ป.) สภ.หนองเรือ จำเลยที่ 2, นายประพันธ์ ศรีพิลัย จำเลยที่ 3, นายบุญช่วย จูงกลาง จำเลยที่ 4 และนายปิยะพงษ์ มีกำบัง จำเลยที่ 5 ในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพ.ร.บ.อาวุธปืน ต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่น ได้ออกหมายจับ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ในข้อหากระทำความผิดฐานจ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ศาลชั้นต้นของศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาคดีจำเลยทั้ง 5 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และ พ.ร.บ.อาวุธปืน โดยศาลพิพากษาให้ พ.ต.ท.สมจิตร แก้วพรม จำเลยที่ 2 และนายประพันธ์ ศรีวิลัย จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยมิได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยเหตุแห่งพฤติกรรมมีการลงไปพูดคุยและผลักผู้ตายเข้าไปในรถ รวมทั้งการจอดรถที่ขวางผู้ตายมิใช่ลักษณะเตรียมพร้อมจะหลบหนี จึงไม่น่าจะเป็นการตั้งใจ เพราะถ้าเช่นนั้นต้องมีการลงมือทันที แต่ยังมีการพูดคุย มีการทำร้ายร่างกายก่อนลงมือยิง
ดังนั้นจึงพิพากษาจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยที่ 3 ให้การเป็นประโยชน์ บรรเทาโทษให้ 1 ใน 4 รวมกับความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตสถานเดียว ส่วนจำเลยที่ 3 รวมโทษจำคุก 37 ปี 14 เดือน 30 วัน
ส่วนจำเลยที่ 1 , 4 และ 5 ให้การปฏิเสธตลอดว่าไม่เกี่ยวข้อง และพยานหลักฐานไม่สามารถนำสืบได้ว่า รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 2 และ 3 จะมาฆ่าผู้ตาย จึงให้ยกฟ้อง โดยให้ขังระหว่างอุทธรณ์
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่มีผลต่อสถานะความเป็น ส.ส.รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของนายนวัธ เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด โดยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคท้ายระบุไว้ว่า กรณีมีการฟ้อง ส.ส.หรือ ส.ว.ในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นต้องมาประชุมสภา เท่ากับว่าการพิจารณาคดีทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การเรียกนายนวัธ ไปดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่มีการประชุมสภาจะกระทำไม่ได้เท่านั้น