สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ “แถลงผลสำรวจแจงนับคนไร้บ้าน สู่การขยายผลเชิงปฏิบัติและนโยบาย”
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ปัจจุบันไม่มีฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) เพื่อสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศใน 77 จังหวัด โดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น เมื่อปี 2558
ทั้งนี้ การสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน เป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี) และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งคนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนการอยู่คนเดียวมากที่สุดร้อยละ 60 กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 รองลงมาคือ นครราชสีมา ร้อยละ 5 เชียงใหม่ ร้อยละ 4 สงขลา ร้อยละ 4 ชลบุรี ร้อยละ 3 ขอนแก่น ร้อยละ 3 และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าพบคนไร้บ้านในพื้นที่ของทุกจังหวัด ในแต่ละปีมีคนไร้บ้านที่เสียชีวิตในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านในแต่ละปี หรือประชากรที่อยู่ในภาวะไร้บ้านสะสมจะมีจำนวนที่มากกว่าตัวเลขการแจงนับ
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี โรงงานปิด คนจะตกงานมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ชุมชนต่างๆ ที่มีโครงการบ้านมั่นคงสร้างบ้านกลางขึ้นมา เพื่อให้คนที่ไม่เงินค่าเช่าบ้าน คนตกงานได้เข้าไปอยู่อาศัย โดยหน่วยงานรัฐเข้าไปสนับสนุน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากนี้ยังมีปัญหากลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง แต่ครอบครัวต้องมีภาระในการดูแล และต้องทำงานเลี้ยงชีพ จึงไม่มีเวลาที่จะดูแลผู้สูงอายุ จึงนำผู้สูงอายุมาไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน หรือบางทีโรงพยาบาลก็เอาผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงมาไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน ทำให้ศูนย์มีภาระแต่ก็ต้องรับเอาไว้เพื่อมนุษยธรรม
“ดังนั้นจึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดูแลครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง เพื่อไม่ให้ครอบครัวเป็นภาระ และปล่อยให้ผู้สูงอายุกลายเป็นคนไร้บ้าน รวมทั้งอยากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนเรื่องการสร้างบ้านกลางเพื่อรองรับคนที่ตกงาน คนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีค่าเช่าบ้าน เพื่อไม่ให้กลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ก็อยากให้มีแต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอย่างจริงจังต่อไป” นายสุทินกล่าว
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) กล่าวว่า พอช.สนับสนุนให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคง ส่วนกลุ่มคนไร้บ้าน รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีศูนย์คนไร้บ้านนั้น หากจังหวัดใดมีคนไร้บ้านจำนวนมาก ก็อาจจะสำรวจข้อมูลเพื่อขอใช้สถานที่ที่เป็นอาคารรกร้างของรัฐนำมาให้คนไร้บ้านได้ใช้ประโยชน์ โดยการประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือของหลายฝ่าย เช่น อบจ. โรงพยาบาล อสม. ฯลฯ เพื่อเป็นการเริ่มต้นหรือการนำร่องก่อนที่จะดำเนินการต่อไป