สภา Green City IMT-GT คึกคัก 3 เทศบาลสงขลา หาดใหญ่ และยะลา ลุยกิจกรรมปั่นจักรยาน ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อพัฒนาเมืองสีเขียวสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และตัวแทนจากเทศบาลนครสงขลา ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย) ณ เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมประชุมความร่วมมือสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองเมดาน อินโดนีเซีย เป็นประธาน
ภายหลังการประชุม นายกเทศมนตรีเมืองเมดาน เป็นประธานนำปั่นจักรยานรอบเมือง และร่วมปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะใจกลางเมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองสีเขียวมีสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างยั่งยืน ในกลุ่มสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวทั้งสามประเทศ Green Cities IMT -GT Mayor Council Meeting
โครงการความร่วมมือสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวทั้งสามประเทศ Green Cities IMT-GT เป็นการขยายกรอบความร่วมมือพัฒนา ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT) แต่เดิมซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยถึงความพร้อมและศักยภาพของเทศบาลสมาชิกที่เข้าร่วม
โดยสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว Green Cities IMT-GT มุ่งเน้นสนับสนุนให้สมาชิกพัฒนาเมืองเป็นเมืองสีเขียวภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนแบบมีทิศทาง ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการคมนาคมขนส่งและจราจร ด้านพลังงาน การจัดการขยะและของเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
จากผลการศึกษาพบว่า 1) ด้านการคมนาคมขนส่งและจราจร เทศบาลนครสงขลา มีแผนงานที่เข้าข่ายเป้าหมายมากที่สุด คือ เพิ่มการบริการขนส่งสาธารณะ การเดินทางรูปแบบที่ไม่ใช้น้ำมัน 2) ด้านพลังงาน เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองปัตตานี และเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีแผนงานในระดับที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายได้ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังงานจากการเผาไหม้น้ำมัน 3) การจัดการขยะและของเสีย ทุกเทศบาลมีแผนงานด้านนี้ค่อนข้างมากที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายได้อย่างดี คือ การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การคัดแยกและรวบรวมเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ 4) ความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกเทศบาลมีแผนงานเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ค่อนข้างมาก สามารถสนับสนุนเป้าหมายได้อย่างดี คือ การเพิ่มต้นไม้ปกคลุม การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และการมีแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 5) การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เทศบาลส่วนใหญ่มีแผนงานที่สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสถานศึกษา ที่สนับสนุนเป้าหมายได้อย่างดี คือ การมีโรงเรียนอีโคสคูล หรือโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา
สำหรับโครงการสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว Green Cities IMT-GT เป็นโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ(Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ซึ่งแต่ละประเทศต่างเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ขยายกรอบความร่วมมือเพิ่มเติมที่เห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกและภูมิภาค โครงการนี้เริ่มต้นในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2536 โดยทั้ง 3 ประเทศเห็นชอบให้ขอความร่วมมือจากธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) ให้ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ
โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่เป็นความร่วมมือเฉพาะเขตที่กำหนดขึ้นและมีจุดเด่นคือ เอกชนจะเป็นผู้ระบุความต้องการและให้รัฐบาลให้การสนับสนุนตามความต้องการของเอกชน
โดยมีกรอบความร่วมมือประกอบด้วย (1) พื้นที่ ประกอบด้วยภาคเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย (อาเชห์ สุมาตราเหนือและตะวันตก) 4 รัฐตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย (เคดาห์ เปอร์ลิส เปรัก และปีนัง)และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล)
(2) เป้าหมาย เพื่อเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่าง 3 ประเทศโดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิต การลงทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยี การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
(3) สาขาความร่วมมือมี 10 สาขาหลัก คือ (3.1) คมนาคมขนส่งทางบกและทางน้ำ (3.2) พลังงาน (3.3) เกษตรและประมง (3.4) อุตสาหกรรม (3.5) ท่องเที่ยว (3.6) การค้า (3.7) การลงทุนและการเงิน (3.8)พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน (3.9) คมนาคมขนส่งทางอากาศ (3.10) สื่อสารโทรคมนาคม
(4) กลไกติดตามประเมินผลโครงการความร่วมมือฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 3 ประเทศเป็นรายสาขา และมีการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ปีละ 1 ครั้ง โดยผลัดกันเป็นประเทศเจ้าภาพ