กทม. – สุโขทัย – พิจิตร ผุดไอเดียกระทงดิจิทัลคลองโอ่งอ่าง จานสร้างบุญเมืองด้ง กระทงใบไม้บึงสีไฟ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี ลดมลพิษฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมคนในสังคม
วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันเพ็ญเดือน 12 เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณ โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น ขอขมาพระแม่คงคา บูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้า ตามคติความเชื่อ ทั้งยังสร้างจิตสำนึกถึงคุณค่าของน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ อนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทย รวมทั้งช่วยสร้างความสามัคคีในครอบครัวและชุมชน
สำหรับปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านนิยมเตรียมกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติลอยลงในแม่น้ำ ทำให้กระทงกลายเป็นขยะ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก เช่น ใบตอง หยวกกล้วย ขนมปัง ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย ตะปูหรือหมุดทำให้สัตว์น้ำได้รับอันตราย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองทําให้มี อปท. ผุดไอเดียรักษ์โลกสุดสร้างสรรค์ขึ้นมา 3 แห่ง ได้แก่
กรุงเทพมหานคร – “ลอยกระทงดิจิทัล ณ คลองโอ่งอ่าง”
กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข ในวันที่ 27 พ.ย. 2566 ภายใต้ชื่อ “ลอยกระทงดิจิทัล ณ คลองโอ่งอ่าง” โดยผสมผสานขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดขยะจากกระทงรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทุกคนสามารถระบายสีลงบนกระทงดิจิทัลของตัวเองที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ หรือ คำอวยพร หลังจากนั้นสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ ลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกกับการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ที่ กทม. จัดให้พี่น้องประชาชนในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง พิเศษไปกว่านั้นคือ ทุกคนสามารถระบายสีให้กับกระทงดิจิตอลของตัวเองลงบนรูปกระทงที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ เขียนคำขอพร แล้วสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ ลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่างได้เลย กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของ กทม. ที่อยากออกแบบแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของเราในรูปแบบใหม่ที่ดีกับโลกมากกว่าเดิม
ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึก ได้ร่วมมือกับ จังหวัดสุโขทัย สำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองด้ง และ Sukhothaicreativecity จัดงาน “ลอยกระทงจาน เมืองสร้างสรรค์ ณ ถิ่นเมืองด้ง” บริเวณท่าน้ำหน้าวัดจอมแจ้ง (วัดภูนก) ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ระหว่างวันที่ 25 – 27 พ.ย. 2566 ซึ่งงานลอยกระทงที่นี่ไม่ใช้ต้นกล้วยประดิษฐ์กระทงเหมือนที่อื่น แต่จะทำกระทงด้วยจานสังกะสี หม้อและกะละมัง ตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู เพื่อขอขมาพระแม่คงคา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยเก็บกระทงจานนำถวายแก่วัด นอกจากจะไม่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียแล้ว ยังได้ร่วมทำบุญกับทางวัดด้วย
นางสาวสุพรรษา เรืองฤทธิ์ ประธานการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองด้ง กล่าวว่า งานลอยกระทงที่นี่ถือเป็นงานลอยกระทง ที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราไม่ทิ้งเศษวัสดุลงแม่น้ำ โดยเราใช้อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ มาตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู เพื่อขอขมาพระแม่คงคา เสร็จแล้วก็จะเก็บขึ้นมาแล้วถวายวัดเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนต่อไป
พิจิตร – “ลอยกระทง ชมทะเลหมอก ตํานานพญาชาละวัน”
ส่วนด้าน เทศบาลเมืองพิจิตร ได้จัดงานประเพณีลอยกระทงภายใต้ชื่อ “ประเพณีลอยกระทง ชมทะเลหมอก ตำนานพญาชาละวัน” ณ บึงสีไฟ ในวันที่ 27 พ.ย. 2566 เชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวแต่งกายชุดไทยเข้าร่วมงาน ภายในงานพบกับการแสดงและกิจกรรมมากมาย เช่น ขบวนแห่กระทงสุดยิ่งใหญ่ การแสดงตำนานพญาชาละวัน การแสดงสืบสานประเพณีลอยกระทง กิจกรรมขยะแลกอาหาร และกิจกรรมกระทงรักษ์บึงสีไฟ โดยเทศบาลฯ ได้เตรียมวัสดุในการประดิษฐ์กระทงไว้ให้สมาชิกครอบครัวร่วมกันทำ ซึ่งฐานกระทงทำจากใบไม้ขึ้นรูปให้มีลักษณะคล้ายชาม ตกแต่งด้วยดอกไม้และธูปเทียนเพิ่มความสวยงาม
ดร.สุรพล เตียวตระกูล นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองพิจิตร ได้สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.พิจิตร และยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปีนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลอยกระทงรักษ์บึงสีไฟ ร่วมมือร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเทศบาลฯ จะจัดเตรียมกระทงสำเร็จรูปที่ทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งจะสามารถย่อยสลายและเป็นอาหารของสัตว์น้ำได้ อีกทั้งยังได้จัดเตรียมวัสดุในการประดิษฐ์กระทงรักษ์บึงสีไฟ ให้ทุกคนได้ออกแบบกระทงในแบบที่ชอบและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ที่สำคัญยังมีกิจกรรมดี ๆ เช่น การนำขยะมาแลกเป็นอาหาร พร้อมรับชมการแสดงละครนอก แสง สี แสง ตำนานพญาชาละวัน
นอกจากนี้ เทศบาลฯ ยังได้เนรมิตทะเลหมอกซึ่งผ่านกระบวนการกรองจากน้ำสะอาดมาไว้ที่บริเวณดังกล่าว เพื่อสร้างสีสันในงานลอยกระทงรักษ์บึงสีไฟในปีนี้ และจะติดตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและบันทึกภาพความประทับใจตลอดหน้าหนาวนี้ด้วย