ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2467 และเกิดรูปแบบของเทศบาลตั้งแต่นั้นมา
การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่
เทศบาลตำบล คือ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน
เทศบาลเมืองคือ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน
เทศบาลนคร คือ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 24 คน
“เทศบาล” จึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ที่มีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ในการทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและประสบความสำเร็จที่สุด ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สนับสนุนให้มีโครงการวันเทศบาลขึ้น โดยแต่ละเทศบาลจะมีกิจกรรมพิเศษ เช่น ทำบุญตักบาตร กิจกรรมการแข่งขันกีฬา และจัดบอร์ดแสดงผลงาน เพื่อร่วมเชิดชูและระลึกถึงความสำคัญของการเป็น “เทศบาล” ร่วมกัน