องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 15 แห่งคว้ารางวัล DG Awards ปี 2565 ในโครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลประจำปี 2565 “DGTi Local Government Awards 2022” จากการส่งเข้าประกวดผลงานดิจิทัลจำนวน 44 แห่ง จัดโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลของศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (Digital Government Technology & Innovation Center: DGTi) เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้เสนอผลงานอันถือเป็นนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารงานและให้บริการประชาชนในท้องถิ่น ที่สามารถเชื่อมโยงสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชน กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร อปท. ในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล” ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทั่วประเทศ ได้เสนอผลงานอันถือเป็นนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารงานและให้บริการประชาชนในท้องถิ่น โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชน กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร อปท. ในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร.,นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ,นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565
โครงการการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล” จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่น โดยได้ดำเนินการประกวดมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึง พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง ได้รับความสนใจจากหน่วยงาน อปท. ทั่วประเทศยื่นเอกสารเพื่อนำเสนอผลงาน และได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่โดดเด่น ผ่านการเรียนรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลทั้งสิ้น 4 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ปัญหา หมวดที่ 2 นโยบายและแผน หมวดที่ 3 กระบวนการทำงาน และ หมวดที่ 4 ผลลัพธ์การพัฒนาต่อยอดเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 15 ผลงาน โดยรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยม 3 รางวัล ได้แก่ 1. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ผลงาน YALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน) 2. เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการบริหารจัดการพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วยระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มวอร์รูม ของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และ 3. องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย ผลงาน E-smart pahung
และรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 12 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 12 รางวัล ได้แก่ 1.เทศบาลนครนครราชสีมา ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล young kids 6 part 2.เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล โครงการ “ร้องทุกข์ออนไลน์” Online Petition and Service Center 3. เทศบาลนครนนทบุรี ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล แอปพลิเคชันนครนนท์ 4.เทศบาลเมืองเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล MYKhaoroopchang ระบบรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ 5.เทศบาลเมืองคอหงส์ จังหวัดสงขลา ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลโครงการ APPLICATION KHOHONG SMART CITY 6. เทศบาลตำบลแม่จะเรา ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นด้วยดิจิทัล 7.เทศบาลตำบลเมืองพาน จังหวัดเชียงราย ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพของรพ.สต.ตำบลเมืองพาน 8.เทศบาลตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล ระบบศูนย์บริการประชาชน (One Stop Service) “หนองหอยสุขใจ” 9.องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน จังหวัดแพร่ ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล โครงการจัดการศึกษาภาษาท้องถิ่นสู่สากล 10.องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในรูปแบบของ Smart Car 11.องค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว จังหวัดสุโขทัย ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล โครงการ SMART EMS : ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ประจำปีงบประมาณ 2564 และ12.องค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว จังหวัดสุโขทัย ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล โครงการนวัตกรรมเพื่อการจัดการศึกษาปฐมวัย (Smart Kids)
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดโครงการนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในทุกมิติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4 ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจและสนับสนุนบทบาทชุมชนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูง และปรับระบบวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ยกระดับความสามารถหน่วยงานภาครัฐ และขีดความสามารถของบุคลากรภาครัฐเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศด้านดิจิทัล รวมทั้งการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับบริการภาครัฐ เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ด้วยความโปร่งใส ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม
“ผมขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทั้ง 15 หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัล “ท้องถิ่นดิจิทัล” ประจำปี 2565 และขอแสดงความชื่นชมสำหรับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทยอดเยี่ยมทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งจะได้เข้ารับถ้วยรางวัลรัฐบาลดิจิทัล จาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้อง อปท. ทั่วประเทศในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาท้องถิ่นของพวกเรา ให้มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ารับรางวัลทั้ง 15 แห่งได้สะท้อนให้เห็นว่ามีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปพัฒนาปรับใช้ให้บริการประชาชน จึงกล่าวได้ว่า ท่านไม่ได้มาในนามตัวแทนหน่วยงานตนเองเท่านั้น แต่เป็นภาพตัวอย่างของตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมให้เกิดผลงานสามารถพัฒนาขึ้นเป็นต้นแบบของความเป็นท้องถิ่นดิจิทัลให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป รวมถึงแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของผู้นำองค์กรในการนำเทคโนโยลีดิจิทัลในปัจจุบันมาประยุกต์ในการให้บริการต่าง ๆ ตลอดจนได้นำเสนอแผนงานพัฒนาในอนาคตที่จะต่อยอดการบริการให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ขอเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสนใจและมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงนำเสนอผลงานดิจิทัลเข้าร่วมโครงการผลการดำเนินงานขับเคลื่อนท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566 ต่อไป เพราะเล็งเห็นว่าเป็นโครงการสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริการและการบริหารจัดการภายในหน่วยงานรวมถึงแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของผู้นำองค์กรในการนำเทคโนโยลีดิจิทัลในปัจจุบันมาประยุกต์ในการให้บริการต่าง ๆ ตลอดจนได้นำเสนอแผนงานพัฒนาในอนาคตที่จะต่อยอดการบริการให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
“สพร. DGA จัดประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล” ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล เพื่อเฟ้นหาหน่วยงานอปท.ทั่วประเทศ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร ภายใต้แนวคิด ‘ท้องถิ่นดิจิทัล เปลี่ยนแนวคิด พลิกรูปแบบการทำงาน’นำไปสู่การคัดเลือกหน่วยงานท้องถิ่น ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมาประยุกต์ในการให้บริการต่างๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ดร.สุพจน์ กล่าว
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวแสดงความยินดี กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมทั้ง 3 แห่ง และรางวัลดีเด่นทั้ง 12 แห่งและขอชื่นชมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 44 แห่งที่เป็นตัวแทนส่งผลงานดิจิทัลเข้าประกวดในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลฯ จะเห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยเฉพาะอปท.ที่มีหน้าที่สำคัญในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ฉะนั้นการจัดโครงการในครั้งนี้ถือเป็นขวัญกำลังใจให้ อปท.พัฒนาการให้บริการกับประชาชนในท้องถิ่นได้ประโยชน์ในการใช้บริการของรัฐสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 สำหรับผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ารับรางวัลในวันนี้แบ่งออกเป็นเนื้องาน 5 กลุ่มงาน คือ1. สมาร์ทซิตี้ 2.การบริการประชาชนและรับเรื่องราวร้องทุกข์ 3.การพัฒนาคุณภาพการศึกษาท้องถิ่น 3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและ 5.การให้บริการแพทย์ฉุกเฉิน
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ผลักดันโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้เป็นหนึ่งกลไกที่มีส่วนสำคัญในการให้บริการประชาชน ยกระดับการทำงานให้สะดวกรวดเร็วเพื่อยกระดับการบริหารจัดการโดยมุ่งหวังผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมเสนอโครงการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนา เพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่อัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน