นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ครอบคลุมสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ อปท.และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
โดยจากเดิมการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.จะมี 3 กรณี ได้แก่ ด้านสาธารณภัย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้านส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเมื่อเกิดโรคติดต่อหรือโรคระบาดขึ้นในพื้นที่ อปท. การแก้ไขระเบียบในครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดย อปท.สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งในด้านการจัดหาหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร หรือให้การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการปรับปรุงแหล่งน้ำ หรือทำการเกษตร ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุนด้านการเกษตร และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา ในเรื่องของพืชผลการเกษตรจากการขาดแคลนน้ำ ให้มีผลผลิตมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งการแก้ไขระเบียบอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ กรณีการเกิดเหตุไฟไหม้บ้านหลังเดียวนั้น ซึ่งไม่ใช่กรณีสาธารณภัย แต่เดิม อปท.สามารถช่วยเหลือได้ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครอบครัวผู้ประสบความเดือดร้อน โดยใช้หลักเกณฑ์ของ พม.ซึ่งให้การช่วยเหลือได้ในอัตราครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท และช่วยติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อครอบครัวต่อปีงบประมาณ ก็ได้มีการแก้ไขให้ อปท.สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในด้านส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครอบครัวผู้ประสบความเดือดร้อน กรณีเกิดไฟไหม้ที่ไม่เป็นสาธารณภัยได้ในอัตราเดียวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กล่าวคือ สามารถให้การช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของในการซ่อมแซมบ้านที่ถูกไฟไหม้ได้เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 33,000 บาท ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าว ได้มีการกำหนดระดับความช่วยเหลือของ อปท.ให้ชัดเจนขึ้น มิให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือสับสนระหว่าง อปท.กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือกรณีเกิดสาธารณภัย และมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเพื่อเยียวยาหรือฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย โดยกำหนดเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่เกิดภัย ให้ อปท.รายงานอำเภอ/จังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณานำเงินทดรองราชการเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกรณีที่ไม่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่เกิดภัย ให้ อปท.เสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้นั่นเอง